กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 4 สรุปสาระสำคัญกฎหมายแพ่ง

   ความสามารถของบุคคล (Capacity)
                          ความสามารถของบุคคล หมายถึง ความสามารถในการมีสิทธิหรือใช้สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งโดยปกติบุคคลทุกคนย่อมมีความสามารถในการใช้สิทธิได้ทัดเทียมกัน แต่มีบางกรณีเพื่อคุ้มครองบุคคลบางประเภท กฎหมายจึงได้จำกัดหรือตัดทอนความสามารถของบุคคลประเภทนั้น ๆ เสีย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้แก่ ผู้หย่อนความสามารถซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ
                     ก. ผู้เยาว์
                     ผู้เยาว์ หมายถึง บุคคลผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะการบรรลุนิติภาวะหรือการพ้นจากภาวะผู้เยาว์มีได้ 2 กรณี คือ (1) อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (2) อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ได้ทำการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ สมรสเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว หรือเมื่อศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ความสามารถในการใช้สิทธิของผู้เยาว์ แยกได้ 2 กรณี คือกรณีที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม และกรณีที่ผู้เยาว์สามารถใช้สิทธิกระทำได้เอง
 
                  (1) กรณีที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 บัญญัติว่า "ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น"การใด ๆ ในที่นี้ หมายความถึงเฉพาะการทำ "นิติกรรม" เท่านั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างอื่นที่มิใช่นิติกรรม เช่น ผู้เยาว์กระทำละเมิดต่อผู้อื่น ผู้เยาว์จะต้องรับผิดชอบในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น จะอ้างว่าการกระทำนั้นมิได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้"ผู้แทนโดยชอบธรรม" หมายถึง ผู้ที่มีอำนาจทำนิติกรรมต่าง ๆ แทนผู้เยาว์ หรือให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำนิติกรรม ผู้แทนโดยชอบธรรมได้แก่

                - ผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดาและมารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจ ปกครองร่วมกันในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นมีทั้งบิดาและมารดา หรืออาจจะเป็นบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ ในกรณีที่บิดาหรือมารดาตาย ไม่แน่นอนว่าบิดาหรือมารดามีชีวิตอยู่ บิดาหรือมารดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ บิดาหรือมารดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา

                            - ผู้ปกครอง ผู้ปกครองของผู้เยาว์จะมีได้ก็แต่เฉพาะในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ผู้เยาว์ไม่มีบิดา หรือมีบิดามารดาแต่ได้ถูกถอนอำนาจปกครองแล้ว
                (2) กรณีที่ผู้เยาว์สามารถใช้สิทธิกระทำได้เอง
                นิติกรรมที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เยาว์กระทำได้โดยลำพังตนเองไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมอันเป็นข้อยกเว้นหลักทั่วไป คือ
                                1) นิติกรรมที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไป ซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือทำให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง นิติกรรมที่ทำให้ได้ไปซึ่งสิทธิ เช่น การรับการให้โดยเสน่หา โดยไม่มีภาระผูกพัน นิติกรรมที่ทำให้หลุดพ้นจากหน้าที่ เช่น การที่เจ้าหนี้ทำนิติกรรมปลดหนี้ให้
                                2) นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว เช่น รับรองบุตร
                                3) นิติกรรมที่จำเป็นเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้เยาว์ ซึ่งเป็นการสมควรแก่ฐานานุรูป เช่น การซื้ออาหารกิน ซื้อสมุดดินสอ ขึ้นรถประจำทาง ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของผู้เยาว์เป็นราย ๆ ไป
                                4) การทำพินัยกรรม ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุ 15 ปี บริบูรณ์ ถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมในขณะที่อายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ แม้ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม พินัยกรรมนั้นก็ยังคงเป็นโมฆะ
                              5) การจำนำตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ผู้เยาว์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถจำนำสิ่งของในโรงรับจำนำได้ แต่การจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 748 ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

นครินทร์ นันทฤทธิ์