กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 4

สรุปสาระสำคัญกฎหมายแพ่ง

      กฎหมายแพ่ง มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน เป็นเรื่องที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะไม่มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม จึงปล่อยให้ประชาชนมีอิสระในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันเองภายในกรอบของกฎหมาย
หลักทั่วไปที่ควรทราบเป็นพื้นฐาน
       1. นิติกรรม
       2.บุคคล
            2.1 บุคคลธรรมดา
            2.2 นิติบุคคล
     1. นิติกรรม หมายถึง การกระทำของบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ นิติกรรมจะมีผลสมบูรณ์ต้องกระทำให้ถูกหลักเกณฑ์ตามกฎหมายกำหนดไว้ คือ วัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากกระทำการฝ่าฝืนวัตถุที่ประสงค์ดังกล่าว นิติกรรมนั้น เป็นโมฆะคือเสียเปล่าไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย
   ความสมบูรณ์ของนิติกรรม
กฎหมายได้บัญญัติถึงเรื่องความสมบูรณ์ของนิติกรรมที่ทำขึ้นเป็น 3 กรณีคือ
        1) กรณีที่นิติกรรมกระทำขึ้นถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดทุกประการ ย่อมสมบูรณ์มีผลใช้บังคับ
        2) กรณีนิติกรรมที่กระทำขึ้นมีข้อที่อาจเสื่อมเสียบางประการกฎหมายจึงเข้าคุ้มครองปกป้องสิทธิของฝ่ายที่เสียเปรียบโดยกำหนดให้นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ตลอดไปหรือสิ้นผลไป สุดแท้แต่ฝ่ายที่เสียเปรียบนั้นจะเลือก  เรียกว่านิติกรรมที่เป็นโมฆียะ
       3) กรณีนิติกรรมที่กระทำขึ้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ จึงตกเป็นโมฆะ แยกเหตุแห่งโมฆะกรรมอันเกิดจากวัตถุประสงค์ของนิติกรรม ได้อีกเป็น 3 กรณี คือ
            3.1) นิติกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เช่น ทำสัญญาซื้อขายเฮโรอีน วัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายจึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
            3.2) นิติกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย คือ ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ไก่ทำสัญญาจ้างไข่ไปเก็บดวงดาวบนท้องฟ้า สัญญานี้ย่อมตกเป็นโมฆะ
            3.3) นิติกรรมมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น สมยศมีภรรยา และได้ทำสัญญากับดาริกาซึ่งเป็นหญิงว่าจะอยู่กินฉันสามีภรรยา สัญญานี้เป็นโมฆะเพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

นครินทร์ นันทฤทธิ์