กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 4 สรุปสาระสำคัญกฎหมายแพ่ง

          2. บุคคล  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ บุคคลธรรมดา (Natural Persons) และ นิติบุคคล (Juristic Persons)
               2.1 บุคคลธรรมดา (Natural Persons)  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 บัญญัติหลักเกณฑ์การเริ่มสภาพบุคคลว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก. ." จากบทบัญญัตินี้จึงถือว่าการเริ่มสภาพบุคคลประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
                    1) มีการคลอด คือ การที่ทารกได้พ้นออกมาจากช่องคลอด โดยไม่มีอวัยวะส่วนใดเหลือติดอยู่ ส่วนจะมีการตัดสายสะดือหรือไม่ไม่เป็นข้อสำคัญ
                   2) มีการอยู่รอดเป็นทารก คือ ต้องปรากฏว่าทารกที่คลอดออกมานั้นได้มีการหายใจแล้วซึ่งอาจจะเป็นการหายใจด้วยตนเองหรือการช่วยเหลือของแพทย์ก็ได้ และไม่ว่าการหายใจนั้นจะมีระยะเวลานานเพียงใดก็ตามประโยชน์และความจำเป็นที่ต้องรู้ว่ามนุษย์มีสภาพบุคคลเมื่อใด และสิ้นสุดลงเมื่อใดนี้ ก็เพื่อนำมาวินิจฉัยปัญหาในทางกฎหมายบางประการ เช่น การที่ทารกตายก่อนคลอดหรือขณะที่ยังคลอดไม่เสร็จนั้นมีผลเกี่ยวกับตัวผู้กระทำให้ทารกตายก่อนคลอด หรือขณะยังคลอดไม่เสร็จโดยผู้กระทำย่อมมีความผิดเพียงฐานทำให้แท้งลูก แต่ถ้าทำให้ทารกตายภายหลังที่การคลอดเสร็จเรียบร้อย  ผู้กระทำอาจมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา อนึ่ง การคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกนั้น แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงระยะเวลาไม่กี่นาที ก็ได้ชื่อว่ามีสภาพบุคคล สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เช่น กรณีที่มารดาคลอดบุตรออกมาเรียบร้อยแล้ว บิดาของเด็กก็ตายลง หลังจากนั้นบุตรซึ่งเพิ่งคลอดเสร็จก็ตายลงอีกคน คงเหลืออยู่แต่มารดา ดังนี้ บุตรมีสภาพบุคคลอยู่ในขณะบิดาตาย จึงมีสิทธิรับมรดกของบิดา และทันทีที่เด็กตายลง มรดกส่วนที่ได้รับจากบิดา ก็จะตกทอดต่อไปยังทายาทของเด็กนั้น ซึ่งได้แก่ มารดา โดยปกติ ทารกในครรภ์มารดายังไม่มีสภาพบุคคล จึงยังไม่อาจมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิของทารกในครรภ์มารดาไว้ว่าทารกในครรภ์มารดาก็สามารถจะมีสิทธิต่าง ๆ ได้ ถ้าหากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก" และการมีสิทธินั้นจะมีผล "ย้อนหลัง" ไปถึงวันที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดาด้วยสิทธิต่าง ๆ ที่ทารกในครรภ์มารดาสามารถมีได้ หากภายหลังได้คลอดออกมาและอยู่รอดเป็นทารกนั้นจะเป็นสิทธิเกี่ยวกับอะไรก็ได้ ถ้าสิทธินั้นโดยสภาพอาจตกเป็นประโยชน์แก่ทารกได้ กฎหมายก็ย่อมให้ทารกได้รับสิทธินั้น เช่น สิทธิในการรับมรดกหรือสิทธิในครอบครัว เป็นต้น

นครินทร์ นันทฤทธิ์