กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 5

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ สถานพยาบาล พ.. 2541

                วัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อที่จะให้ได้มีสถานบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในการบริการมีความเรียบร้อยและปลอดภัยแก่ผู้ป่วยซึ่งเข้าไปรับบริการในสถานพยาบาลนั้นๆ

                ความหมายสถานพยาบาล

                สถานพยาบาล ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.. 2541 บัญญัติไว้ว่า     “ สถานที่รวมตลอดถึงยานพาหนะซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม การประกอบวิชาชีพการพยาบาล และการผดุงครรภ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ หรือการประกอบวิชาชีพทันตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม การประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพกายภาพบำบัด  หรือการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเทคนิคการแพทย์  ทั้งนี้ โดยกระทำเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่  แต่ไม่รวมถึงสถานที่ขายยาตามกฎหมายว่าด้วยยา ซึ่งประกอบธุรกิจการขายยาโดยเฉพาะ”

จากความหมายที่กฎหมายได้ให้คำนิยามไว้นั้น จะไม่รวมถึงสถานที่ขายยา เนื่องจากว่าสถานที่ขายยานั้นจะมีกฎหมายว่าด้วยยา ควบคุม ไว้แล้วไม่ว่าจะเป็น การควบคุมการผลิต ขาย  นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร  จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายสถานพยาบาล

                ข้อพิจารณา คือ กฎหมายใช้คำว่า สถานพยาบาล แทนที่จะใช้คำว่า โรงพยาบาลหรือ คลินิก  เป็นต้น และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างใด ก็ตาม กฎหมายได้จัดประเภทสถานพยาบาลดังนี้

         1. สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

                หมายถึง สถานพยาบาลที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนในสถานพยาบาลของตน กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมารับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น มารับการตรวจสุขภาพและได้รับยาไปรับประทานที่บ้าน แต่จะไม่ได้มานอนพักรักษาตัว หรือมีคนเฝ้าดูแลในแต่ละเวร เหมือนกับสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สถานพยาบาลดังกล่าวนี้ ได้แก่ คลินิคแพทย์ ที่เปิดทำการทั่วไป อย่างไรก็ดี กฎหมายได้กำหนดไว้ ในกฎกระทรวง ว่าด้วยวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล พ.ศ. 2545 ในคลินิกเวชกรรมนั้น จะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำนวนหนึ่งคน ส่วนคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางนั้นต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติแพทยสภาในสาขานั้น ตามสาขาที่ได้รับวุฒิบัตรหรือที่ได้รับอนุมัติแล้วแต่กรณี สาขาละหนึ่งคน หากเป็นคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จำนวนหนึ่งคน

นครินทร์ นันทฤทธิ์