กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 3 สรุปสาระสำคัญกฎหมายอาญา

ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา

ความผิดในฐานนี้ เป็นความผิดที่ผู้ประกอบวิชาชีพจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 307 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแล ผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการ หรือจิตพิการ ทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้นเสีย โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบภายนอก

      1. มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ เพราะอายุ ความป่วยเจ็บ กายพิการหรือจิตพิการ

      2. ทอดทิ้งผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้นเสีย

      3. โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต

องค์ประกอบภายใน

เจตนา

                คำว่า หน้าที่ตามกฎหมาย หมายถึง กรณีที่กฎหมายบัญญัติความสัมพันธ์หรือสิทธิและหน้าที่ของบุคคลเหล่านั้นไว้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ตามศีลธรรมจรรยา หรือหน้าที่ต้องดูแลตามข้อเท็จจริง เช่น  หน้าที่ของบุตรที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563) สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461) เป็นต้นส่วนหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เช่น ผู้คุมที่ดูแลนักโทษ แพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย เป็นต้น ส่วนคำว่า มีหน้าที่ตามสัญญาต้องดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ หมายถึง กรณีที่บุคคลสมัครใจก่อนิติสัมพันธ์รับดูแลผู้ซึ่งพึ่งตนองมิได้ อาจจะได้รับค่าจ้างดูแลหรือไม่ ก็ได้ เช่น ผู้รับจ้างเลี้ยงดูเด็กอ่อน คนชรา คนป่วย คนพิการหรือคนจิตพิการ

                คำว่า ทอดทิ้ง นั้นอาจเป็นการกระทำ คือ นำเด็กหรือคนชราหรือคนป่วย ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ไปทิ้งเสียที่อื่น หรืออาจเป็นการไม่กระทำ คือ เด็กหรือคนชราหรือคนป่วย ซึ่งพึ่งตนเองมิได้ อยู่ที่แห่งหนึ่งแล้ว ผู้กระทำไปเสียจากผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้นั้น มีข้อสังเกต คือ การทอดทิ้งตามมาตรานี้ รวมถึงการทอดทิ้งที่ไม่กระทำด้วย เช่น สามีภริยาแยกกันอยู่ ภริยาเอาบุตรเล็ก ๆมาทิ้งหน้าบ้านสามี สามีรู้แล้วไม่รับเด็กเข้ามาในบ้านถือเป็นการทอดทิ้งด้วย

                คำว่า โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หมายความว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ประกอบการทอดทิ้งว่าน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงตายได้หรือไม่ โดยพิจารณาจากระดับความคิดเห็นของวิญญูชนว่า การทอดทิ้งมีสภาพน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตหรือไม่

 ตัวอย่าง

นาย เขียว เป็นบุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดู นาย ดำ บิดาซึ่งพึ่งตนเองมิได้ เพราะอายุมากและป่วยเจ็บลุกเดินไม่ได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย นายเขียว กลับทอดทิ้ง นายดำ ไว้ในบ้านคนเดียว ปล่อยให้อดอาหารและถูกแดดถูกฝนจนป่วยหนักลง น่าจะตายได้ นายเขียว ย่อมมีความผิดตามมาตรา 307

จบหน่วยที่ 3

นครินทร์ นันทฤทธิ์