กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 4 สรุปสาระสำคัญกฎหมายแพ่ง

ประเด็นทางกฎหมายที่พบบ่อยในการประกอบวิชาชีพในทางแพ่ง

      1. ความผิดเพื่อละเมิดในการกระทำของตนเอง

      2.  ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น

      3. ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์

ความผิดเพื่อละเมิดในการกระทำของตนเอง

                ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น  คำว่า ผู้ใด หมายถึง บุคคลทุกชนิด ไม่ว่าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต ประการต่อมาต้องพิจารณาว่า บุคคลนั้นต้องมีการกระทำด้วย ซึ่งการกระทำนั้นนอกจากจะหมายถึงการเคลื่อนไหวในอิริยาบถโดยรู้สำนึกในความเคลื่อนไหว แล้ว ยังหมายความรวมถึง การงดเว้นไม่กระทำ (omission) แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขว่า การงดเว้นหรือละเว้นไม่กระทำการที่มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่นี้ อาจเกิดจากกฎหมายหรือเกิดจากสัญญาหรือความสัมพันธ์ทางข้อเท็จจริงที่มีอยู่ระหว่างผู้งดเว้นกับผู้เสียหายหรือเป็นผลมาจากฐานะทางข้อเท็จจริงซึ่งผู้งดเว้นได้ก่อขึ้น

สิ่งต้องทำความเข้าใจ

      1. หน้าที่ตามกฎหมาย หมายความว่า มีกฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับหน้าที่ที่ต้องทำ เช่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน จะเห็นได้ว่า หากไม่อุปการะเลี้ยงดูจนผู้มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูได้รับความเสียหาย ย่อมเป็นละเมิด เกิดจากการงดเว้นการะทำของผู้มีหน้าที่ อย่างไรก็ดี การงดเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติให้กระทำหรือตนไม่มีหน้าที่ก็ไม่ถือเป็นละเมิด

ฎ. 857/2512 การที่จำเลยไม่จัดคนเฝ้าบ้านของบุคคลที่ยกให้จำเลยหรือไม่รื้อถอนอาการดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยมีหน้าที่ต้องทำ การที่คนร้ายเข้าไปในบริเวณบ้านดังกล่าวแล้ววางเพลิงเผาบ้านและทรัพย์สินของโจทก์ จะถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อไม่ได้

      2. หน้าที่ตามสัญญา ตัวอย่างเช่น  มีสัญญาจ้างแพทย์รักษาโรค แต่แพทย์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา เป็นผลให้เกิดความเสียหาย ถือเป็นการงดเว้น จึงเป็นทั้งผิดสัญญาและละเมิด

      3. หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางข้อเท็จจริงที่มีอยู่ระหว่างผู้งดเว้นกับผู้เสียหาย หรือเป็นผลมาจากฐานะทางข้อเท็จจริงซึ่งผู้งดเว้นได้ก่อขึ้น เช่น แขกมาเยี่ยมบ้าน เจ้าของบ้านก็ต้องจัดเก้าอี้ที่อยู่ในสภาพเรียบร้อยให้แขก เป็นต้น ส่วนหน้าที่อันเป็นผลมาจากฐานะทางข้อเท็จจริง เช่น แพทย์ประจำโรงพยาบาลระหว่างเดินทางกลับบ้าน เห็นผู้เจ็บป่วยก็เข้าช่วยเหลือรักษาพยาบาลอันมิใช่หน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญา หากงดเว้นไม่ทำหน้าที่ต่อไปให้ตลอด ก็ย่อมเป็นการงดเว้น

นครินทร์ นันทฤทธิ์