กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 4 สรุปสาระสำคัญกฎหมายแพ่ง

             การสิ้นสภาพบุคคล
               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 บัญญัติถึงเรื่องการสิ้นสภาพบุคคลไว้ว่า "…สภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย" การตายนี้แยกออกเป็น 2 กรณี คือ
                1) ตายธรรมดา เป็นการตายตามธรรมชาติ สภาพบุคคลย่อมสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ตายโดยปกติเมื่อบุคคลใดตายก็ย่อมสามารถทราบได้ว่าบุคคลนั้นตายเมื่อใด แต่บางกรณีอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ถ้ามีบุคคลหลายคนถึงแก่ความตายพร้อมกันในเหตุภยันตรายร่วมกัน และไม่ทราบว่าใครตายก่อนตายหลังกันแน่ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือต้องทราบว่าใครตายก่อนหลัง เพราะจะต้องเกี่ยวพันถึงมรดก ด้วยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 17 จึงบัญญัติว่า "ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ให้ถือว่าตายพร้อมกัน"
                2) สาบสูญ เป็นการตายตามกฎหมาย กล่าวคือบุคคลใดเมื่อถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วกฎหมายถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตาย การจะถือว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ดังนี้ คือ
                    2.1) บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่ทราบข่าวว่าเป็นตายร้ายดีประการใด เป็นระยะเวลา 5 ปี ในกรณีธรรมดา โดยนับตั้งแต่วันที่ออกไปจากบ้านหรือวันที่ส่งข่าวให้ทราบเป็นครั้งสุดท้าย  2 ปี ในกรณีพิเศษ ได้แก่ กรณีที่บุคคลได้ไปถึงที่สมรภูมิแห่งสงคราม หรือไปตกอยู่ในเรือเมื่ออับปาง หรือไปตกอยู่ในฐานะที่จะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ประการอื่น การนับระยะเวลา 2 ปี นี้จะนับตั้งแต่สงครามสงบ หรือเมื่อเรืออับปาง หรือนับแต่ภยันตรายอย่างอื่นนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว แล้วแต่กรณี
                    2.2) มีคำสั่งของศาลแสดงการสาบสูญ ซึ่งศาลจะสั่งได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ บิดา มารดา บุตร ภริยา สามี หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ร้องขอต่อศาล และเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดสาบสูญแล้วให้โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาเมื่อศาลได้สั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้วจะมีผลดังนี้ คือ
                         (1) ถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ (ถึงแก่ความตาย) นับตั้งแต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี (มิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลสั่ง)
                         (2) เมื่อเป็นคนสาบสูญแล้ว ทรัพย์สมบัติทั้งหลายของคนสาบสูญจะตกเป็นมรดกแก่ทายาท ยกเว้นเรื่องการสมรส การสาบสูญไม่ทำให้การสมรสขาดจากกันเป็นเพียงเหตุฟ้องหย่าเท่านั้นคนสาบสูญจะพ้นสภาพจากการเป็นคนสาบสูญได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้คือ
                                1) ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลสาบสูญนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดจากระยะเวลาที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ
                                2) เมื่อบุคคลผู้นั้นเอง ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอและ
                                3) ศาลมีคำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นสาบสูญ และคำสั่งนี้ต้องโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเช่นเดียวกับคำสั่งแสดงการสาบสูญการเพิกถอนคำสั่งแสดงการสาบสูญ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายที่ได้กระทำโดยสุจริต ในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งแสดงการสาบสูญจนถึงเวลาเพิกถอนคำสั่งนั้น อนึ่ง บุคคลที่ได้รับทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งแสดงการสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไป เพราะศาลสั่งถอนคำสั่งแสดงการสาบสูญนั้น จำต้องส่งคืนทรัพย์สินแต่เพียงเท่าที่ยังได้เป็นลาภอยู่แก่ตน

นครินทร์ นันทฤทธิ์