กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 3 สรุปสาระสำคัญกฎหมายอาญา

ความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพ

เมื่อเราทราบพื้นฐานในการรับผิดทางอาญาแล้วต่อไปจะได้ศึกษาในรายละเอียดของแต่ละความผิดว่ามีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา เรียกว่า ภาคความผิด

ความผิดต่อร่างกาย

          1. ความผิดเกี่ยวกับร่างกาย

ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติไว้ตั้งแต่มาตรา295-300 ตัวอย่าง มาตรา 295 บัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบของความผิดมีดังนี้

องค์ประกอบภายนอก

        1.       ทำร้าย
  2.       ผู้อื่น
  3.      จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น

องค์ประกอบภายใน

เจตนา

ความผิดตามมาตรานี้ มีองค์ประกอบใกล้เคียงกับความผิดฐานฆ่าตนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 (ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี) จะเห็นได้ว่ามีการทำร้ายผู้อื่นเช่นเดียวกัน แต่ผลของการกระทำต่างกัน กล่าวคือ มาตรานี้ผลของการทำร้ายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้ถูกทำร้าย ส่วนตามมาตรา 290 ผลของการทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ข้อสังเกตที่สำคัญ ในการทำร้ายของมาตรานี้จะต่างกับมาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ ในมาตรา 391 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในมาตรา 391 นี้ เป็นการทำร้ายที่ต้องใช้แรงกายภาพและต้องมีการเคลื่อนไหวของร่างกายเท่านั้น แต่การทำร้ายตามมาตรา 295 มีความหมายกว้างกว่า เช่น การบอกข่าวร้ายให้ตกใจ เอาไฟฟ้าดูด  ให้กินยาพิษ(ฎ.607/2485) เป็นต้น

ตัวอย่าง

ฎ. 895/2509 จำเลยเอาก้อนอิฐขว้างปาผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลบ ก้อนอิฐจึงไม่ถูกตัวผู้เสียหายแต่ผู้เสียหายเซไป มือจึงฟาดถูกข้างเรือได้รับบาดเจ็บ ถือได้ว่าอันตรายแก่กายนี้เนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

ปัญหาอีกประการหนึ่งของมาตรานี้คือ อย่างไรเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้บทนิยามไว้ จึงต้องศึกษาจากแนวคำพิพากษาฎีกา

นครินทร์ นันทฤทธิ์