กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 2 : พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

สาระสำคัญเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพ

คำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายนี้ได้แบ่ง เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

1. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล

2. ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์

3. ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

         ผู้ประกอบวิชาชีพ ทั้ง 3 ประเภท เป็นบุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพจากสภาการพยาบาล  ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นต้องผ่านการคัดกรองโดยเริ่มจากคุณสมบัติตามมาตรา 11 กล่าวคือ ต้องเป็นสมาชิกสามัญ  อย่างไรก็ดีผู้ที่จบการศึกษาก่อนที่ พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จะเริ่มใช้บังคับ ต้องไปอยู่ภายใต้บังคับของ กฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลป์ ดังนั้นเมื่อพระราชบัญญัติฯนี้ มีผลใช้บังคับแล้ว จึงบัญญัติให้บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกสามัญทันที (มาตรา 49)

คุณสมบัติสมาชิกสามัญตามมาตรา 11 มีสาระสำคัญดังนี้

1. มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์
2. มีความรู้ในวิชาชีพการพยาบาลหรือการผดุงครรภ์โดยได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาหรือประกาศนียบัตรในสาขาการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สภาการพยาบาลรับรอง
3. ไม่เป็นผู้ประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
4. ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกในคดีที่คณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
5. ไม่เป็นผู้มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือไม่เป็นโรคที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสภาการพยาบาล
หมายเหตุ ตาม พรบ. ฉบับนี้ยังมีสมาชิกอีกประเภทหนึ่ง คือ สมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้แก่  ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งสภาการพยาบาลเชิญให้เป็นสมาชิกจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีคุณสมบัติตามลักษณะของสมาชิกสามัญ
 

นครินทร์ นันทฤทธิ์