กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 2 : พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

บทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

            ในการดำเนินงานของสภาการพยาบาล จะต้องมีกรรมการสภาการพยาบาล ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งและการเลือกตั้งกล่าวคือ การแต่งตั้งนั้นจะมีจำนวน 16 คน ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขห้าคน ผู้แทนกระทรวงกลาโหมสามคน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยหนึ่งคน ผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัยสี่คน ผู้แทนกรุงเทพมหานครหนึ่งคน ผู้แทนสภากาชาดไทยหนึ่งคนและนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ส่วนการเลือกตั้งจะได้มาจากการให้สมาชิกสามัญทุกคนเลือกผู้ที่ลงรับเลือกตั้งซึ่งจะมีจำนวน 16 คน การเลือกตั้งดังกล่าวก็จะมีลักษณะที่คล้ายกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (..) เป็นต้น

นอกจากนี้กฎหมายยังได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการสภาการพยาบาล คือ

1) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์หรือ การพยาบาลและการผดุงครรภ์

            2) ไม่เคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
            3) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย

           อย่างไรก็ดี กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งหรือรับเลือกตั้ง นั้นมีวาระอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 4 ปี เท่านั้น แม้จะมีการเลือกตั้งซ่อมก็ตาม เช่น นาง ดำ ได้เป็นกรรมการสภาการพยาบาลแล้ว แต่มาเสียชีวิตหลังจากที่ได้ทำหน้าที่ของกรรมการสภามาแล้ว 2 ปี ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม นาง เขียวได้รับเลือก นางเขียวก็จะอยู่ในวาระอีก 2 ปีที่เหลือ เป็นต้น

      อย่างไรก็ดี การทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวในบางเรื่องนั้น อาจจำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะเรื่อง ดังนั้นจึงต้องมีกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งคณะกรรมการฯอาจแต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกสามัญเป็นกรรมการที่ปรึกษาจำนวนไม่เกินหนึ่งในสี่ของคณะกรรมการก็ได้

          เมื่อได้คณะกรรมการมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็มีการจัดสรรตำแหน่ง อาทิ นายกสภาการพยาบาล อุปนายกสภาการพยาบาล เลขาธิการและรองเลขาธิการ เป็นต้น ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งข้างต้น คือ ตำแหน่งเลขาธิการสภาการพยาบาลนั้นไม่ได้มาจากคณะกรรมการ แต่นายกสภาการพยาบาลเป็นผู้เลือกจากสมาชิกสามัญโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ทำให้เห็นว่า คณะกรรมการสภาการพยาบาลในชุดนั้น ๆ อาจจะมี 33 คนก็ได้หากนายกสภาการพยาบาลเลือก บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่มาจากกรรมการสภาการพยาบาล เมื่อทราบถึงตำแหน่งต่าง ๆแล้ว ก็จะมาศึกษาว่าในแต่ละตำแหน่งนั้นกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างไรบ้าง

1. นายกสภาการพยาบาลมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

-          ดำเนินกิจการของสภาการพยาบาลให้เป็นไปตามกฎหมายวิชาชีพหรือตามมติของคณะกรรมการ

-          เป็นผู้แทนสภาการพยาบาลในกิจการต่าง ๆ

-          เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ

อย่างไรก็ดี นายกฯมีอำนาจในการมอบหมายให้กรรมการอื่นๆ ปฏิบัติหน้าที่แทนตนตามที่เห็นสมควรได้แต่ต้องทำเป็นหนังสือ

2. อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่หนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

-          เป็นผู้ช่วยนายกสภาการพยาบาลในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาการพยาบาลตามที่นายกฯมอบหมาย

-          ทำการแทนนายกสภาการพยาบาลเมื่อนายกฯไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

3. อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่สอง มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

-           เป็นผู้ช่วยนายกสภาการพยาบาลในกิจการอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสภาการพยาบาลตามที่นายกฯอบหมาย

-          ทำการแทนนายกสภาการพยาบาลเมื่อนายกฯและอุปนายกฯคนที่หนึ่งไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

4. เลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

-          ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่สภาการพยาบาลทุกระดับ

-          ควบคุมรับผิดชอบในงานธุรการทั่วไปของสภาการพยาบาล

-          รับผิดชอบในการดูแลรักษาทะเบียนสมาชิก ทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล การผดุงครรภ์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์และทะเบียนอื่น ๆ

-          ควบคุม ดูแลทรัพย์สินของสภาการพยาบาล

-          เป็นเลขานุการของคณะกรรมการสภาการพยาบาล

5. รองเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

-          ผู้ช่วยในกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการฯ หรือตามที่เลขาธิการฯ ได้มอบหมาย

-          ทำการแทนเลขาธิการฯ เมื่อเลขาธิการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

6. ประชาสัมพันธ์ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

-          ประชาสัมพันธ์ แนะนำ เผยแพร่กิจการของสภาการพยาบาล

-          ให้การศึกษาแก่องค์กรอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวกับ การพยาบาล การผดุงครรภ์และการสาธารณสุข

7. เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

                      - ควบคุม ดูแล รับผิดชอบการทำบัญชีการเงินและงบประมาณของสภาการพยาบาล

                           นอกจากนี้ยังมีอีกตำแหน่งที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือ ตำแหน่งสภานายกพิเศษ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้คือ

-          รักษาการตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

-          แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่

-          ออกกฎกระทรวงและกำหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

-          เข้ารับฟังการประชุมคณะกรรมการ และมีสิทธิชี้แจงแสดงความเห็น

-          ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับมติของคณะกรรมการฯ ได้แก่ การออกข้อบังคับสภาการพยาบาล การกำหนดงบประมาณ การให้สมาชิกสามัญพ้นจากสมาชิกภาพและการวินิจฉัยชี้ขาดให้ลงโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดจริยธรรมกรณีที่ถูกพักใช้ใบอนุญาตและถูกเพิกถอนใบอนุญาต

นครินทร์ นันทฤทธิ์