กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

สรุปสาระสำคัญความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

การยกเลิกกฎหมาย

                 กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้ว ก็ใช้ได้ตลอดไป จนกว่าจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกโดยกระบวนการที่ถูกต้องตามขั้นตอนในภายหลัง เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิก ก็ต้องถือว่ากฎหมายนั้นยังมีอยู่ จะหยิบยกขึ้นมาใช้เมื่อใดก็ยังคงมีผลบังคับใช้ได้เสมอ ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "กฎหมายนอนหลับบางคราว แต่ไม่เคยตาย" (The Laws Sometimes. Sleep, Never Die.) การยกเลิกกฎหมายหรือการสิ้นสุดแห่งการใช้บังคับกฎหมาย (Abrogation of Law) แยกได้เป็น 4 กรณี คือ (1) การยกเลิกกฎหมายโดยตรง (2) การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย (3) การยกเลิกกฎหมายโดยองค์กรที่มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ และ (4) การยกเลิกกฎหมายโดยผลแห่งคำพิพากษาของศาล

1. การยกเลิกกฎหมายโดยตรง

                 หมายความว่า มีบทบัญญัติในกฎหมายฉบับนั้นเอง หรือในกฎหมายฉบับใหม่ระบุไม่ให้ใช้กฎหมายเก่านั้นอีกต่อไปโดยชัดแจ้ง การยกเลิกกฎหมายโดยตรงมีได้ในกรณีดังต่อไปนี้
                . กฎหมายกำหนดวันยกเลิกกฎหมายไว้ล่วงหน้าโดยกฎหมายนั้นเอง เช่น กำหนดให้ใช้กฎหมายนั้นเป็นเวลา 3 ปี เมื่อใช้กฎหมายครบ 3 ปีแล้ว กฎหมายนั้นก็สิ้นสุดไปในตัว ไม่ต้องมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งระบุยกเลิก เช่น บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 195 กำหนดการยกเลิกตัวเองไว้ว่า ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่รัฐสภา มีอายุจนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการยกเลิกกฎหมายโดยตรง
                . มีกฎหมายใหม่ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกันระบุยกเลิกกฎหมายเก่าไว้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกันหรือกฎหมายอื่น การยกเลิกนี้อาจเป็นการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับ หรือเป็นการยกเลิกกฎหมายนั้น เฉพาะบางบทมาตราก็ได้ จะยกเลิกอย่างไรต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย เช่น มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.  2522 ได้ระบุยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกฉบับก่อน ๆ ทุกฉบับ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.  2542 ยกเลิกบางมาตราของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น

                . เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนด แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้น ในกรณีเช่นว่านี้ ก็มีผลเป็นการยกเลิกพระราชกำหนดนั้นไปทันที นับแต่วันที่ประกาศไม่อนุมัติพระราชกำหนด แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้นแต่ประการใด (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.  2540 มาตรา 218)

2. การยกเลิกกฎหมายโดยปริยาย

                 หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดแจ้งระบุให้ยกเลิก แต่เป็นที่เห็นได้จากกฎหมายฉบับใหม่ว่าจะต้องยกเลิกกฎหมายเก่าไปในตัวด้วย ดังในกรณีดังต่อไปนี้
 
                . กฎหมายใหม่ และกฎหมายเก่า มีบทบัญญัติสำหรับกรณีหนึ่ง ๆ อย่างเดียวกัน ในกรณีเช่นว่านี้ต้องถือว่ากฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า ในกรณีเช่นเดียวกันนั้นเพราะต้องถือว่ากฎหมายใหม่ดีกว่ากฎหมายเก่า และกฎหมายใหม่ไม่ประสงค์จะให้ใช้กฎหมายเก่า
                . กฎหมายใหม่ มีข้อความขัดแย้งกับกฎหมายเก่า กล่าวคือ กฎหมายใหม่บัญญัติไว้อย่างหนึ่ง กฎหมายเก่าบัญญัติไว้อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกันหรือตรงกันข้ามกัน ต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับ และถือว่ากฎหมายเก่าถูกยกเลิกไปโดยปริยายเช่นกัน

                . การยกเลิกกฎหมายแม่บทที่มอบอำนาจให้ ย่อมจะทำให้กฎหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจนั้นพลอยยกเลิกไปด้วย เช่น การยกเลิกพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดย่อม ยกเลิกพระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนดนั้นด้วย

3. การยกเลิกกฎหมายโดยศาลรัฐธรรมนูญ

                เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นจึงมีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ กฎหมายใดที่มีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ

4. การยกเลิกกฎหมายโดยผลแห่งคำพิพากษาของศาล

                มีกฎหมายหลายประเภทซึ่งประกาศใช้โดยมิได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งได้แก่
พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และกฎหมายที่ใช้บังคับในท้องถิ่น อันได้แก่ข้อบัญญัติจังหวัด เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้ต้องไม่มีข้อความขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่น เพราะเป็นเรื่องที่ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายให้บัญญัติได้อีกขั้นหนึ่ง ดังนั้นถ้าเกิดปัญหาขึ้น ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาว่าพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือกฎหมายที่ใช้บังคับในท้องถิ่นที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายอื่น หรือที่เกินขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจนั้นตกเป็นโมฆะซึ่งเท่ากับมีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายเหล่านั้นได้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2498 วินิจฉัยว่าเทศบาลอาจตราเทศบัญญัติเรื่องสะพานท่าเทียบเรือสาธารณะโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาลได้ แต่จะตราได้เฉพาะที่อยู่ในขอบอำนาจ และไม่ขัดแย้งต่อกฎหมาย แต่จะห้ามเลยไปถึงมิให้ผู้อื่นสร้างหรือใช้สะพานท่าเทียบเรือในที่ดินของเอกชนด้วยไม่ได้ เทศบัญญัติที่ออกมาเกินขอบเขตอำนาจเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลบังคับ และเท่ากับเป็นการยกเลิกไปในตัว

จบหน่วยที่ 1 ::ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

นครินทร์ นันทฤทธิ์