|
|
||
|
|||
สรุปสาระสำคัญความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย |
|||
ลำดับหรือศักดิ์ของกฎหมาย |
|||
การทราบศักดิ์ของกฎหมายมีประโยชน์ในทางปฏิบัติ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายใด ต้องกระทำโดยกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากันหรือสูงกว่า เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำโดยตรารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม การยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ต้องทำโดยตรา พระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ออกมายกเลิก จะออกกฎกระทรวงมายกเลิก พระราชกฤษฎีกาไม่ได้ เป็นต้น |
|||
หากจัดลำดับความสำคัญตามศักดิ์ของกฎหมายย่อมจัดเรียงลำดับลดหลั่นกันไป ดังต่อไปนี้ |
|||
1. รัฐธรรมนูญ ถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ หากกฎหมายฉบับใดมีเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นย่อม บังคับใช้มิได้นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญได้แก่ กฏมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ประกาศของคณะปฏิบัติบางฉบับ และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน รัฐธรรมนูญอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ตามแต่ผู้มีอำนาจจะกำหนดเรียก เช่น พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 หรือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย ซึ่งมักใช้ในระหว่างที่ประเทศอยู่ในอำนาจของการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ส่วนประกาศคณะปฏิวัติ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้น แม้โดยสภาพจะมิใช่รัฐธรรมนูญ แต่ก็มีศักดิ์เท่ากับรัฐธรรมนูญเพราะมีอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ |
|||
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การปกครองประเทศซึ่งแยกออกมาบัญญัติรายละเอียดต่างหากออกไปจาก รัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยขยายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เช่น เรื่องของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาจะทำอย่างไรก็ตราออกเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เรื่องการดำเนินงานของพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการอย่างไร ก็ตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง |
|||
3. พระราชบัญญัติ กฎหมายซึ่งตราขึ้นใช้บังคับในแผ่นดินตามปกติ โดยรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัตินอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่มีฐานะและศักดิ์ท่ากับพระราชบัญญัติ ได้แก่ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด และพระบรมราชโองการซึ่งให้ใช้บังคับ ดังเช่น พระราชบัญญัติ ประกาศของคณะปฏิวัติและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อย่างไรก็ดีในกฎหมายเหล่านี้อาจมีการขัดแย้งกันเอง ซึ่งกรณีนี้จะต้องถือเอากฎหมายซึ่งประกาศใช้ล่าสุด ยกเลิกกฎหมายฉบับก่อน ๆ ที่มีบทบัญญัติขัดหรือแย้งกับกฎหมายฉบับล่าสุดนั้น หากพิจารณาประมวลกฎหมาย นั้นเป็นการประมวลเอากฎหมายประเภทเดียวกัน เข้าไว้ในที่เดียวกันและเรียงมาตราตั้งแต่ต้นจนจบเป็นหมวดหมู่ ซึ่งศาสตราจารย์ หยุด แสงอุทัย ได้ให้คำอธิบายว่า ประมวลกฎหมายคือ กฎหมายที่บัญญัติรวมเรื่องต่าง ๆ ไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยได้ร้อยกรองจัดเป็นระบบขึ้นใหม่และแบ่งเป็นหมวดหมู่เรียบร้อยมีการกล่าวเท้าความถึงซึ่งกันและกัน การประมวลกฎหมายจึงต่างกับการนำพระราชบัญญัติซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งมาบัญญัติรวมไว้ด้วยกัน ส่วนพระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ในอันจะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยของสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ส่วนประกาศของคณะปฏิวัติ ศาลฎีกาได้ยอมรับว่าเป็นกฎหมายของแผ่นดิน ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ย่อมีอำนาจออกและยกเลิก แก้ไขกฎหมายได้ รัฐมนตรีที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้ จึงเป็นรัฐมนตรีโดยชอบ จะเห็นได้ว่าศาลยุติธรรมจำต้องยอมรับผลของการปฏิวัติ หรือรัฐประหารซึ่งทำได้สำเร็จและผู้กระทำได้กลายเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงในรัฐอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2505 ตัดสินว่า เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติ สั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม |
|||
4. พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ตราขึ้นใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท พระราชกฤษฎีกาแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ พระราชกฤษฎีกาซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญและออกโดยอาศัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติในการออกพระราชกฤษฎีกาจะต้องมีการระบุว่ามีการมอบอำนาจไว้ให้ชัดแจ้ง ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2493 อำนาจออกพระราชกฤษฎีกาจนเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายทั่ว ๆ ไป ของบ้านเมืองนั้น จักต้องมีการระบุมอบอำนาจไว้ โดยชัดแจ้งในตัวพระราชบัญญัติ มิฉะนั้นพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาเป็นการขัดหรือหรือฝ่าฝืนกฎหมายทั่วไปของบ้านเมืองนั้นก็จะบังคับใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ดี พระราชกฤษฎีกาบางประเภทที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชกฤษฎีกาเปิดหรือปิดสมัยประชุมสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภา พระราชกฤษฎีกาเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ |
|||
นครินทร์ นันทฤทธิ์ |
|||
|
|||
|
|||