|
|
||
|
|||
สรุปสาระสำคัญความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย |
|||
ตัวอย่างกฎหมายมหาชน |
|||
ก. รัฐธรรมนูญ/กฎหมายรัฐธรรมนูญ |
|||
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐและการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจต่าง ๆ เหล่านั้นเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการปกครองประเทศอำนาจสูงสุดเรียกว่าอำนาจอธิปไตย | |||
คำว่า "รัฐธรรมนูญ" กับ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายต่างกัน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่วางระเบียบในการปกครองประเทศซึ่งเป็นเสมือนชื่อเฉพาะของกฎหมายประเภทนั้น ๆ และแสดงเนื้อหาสาระ ตลอดจนฐานะความสำคัญพร้อมกันในตัวเอง ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นคำที่กว้างมีความหมายเป็นการทั่วไปและครอบคลุมเนื้อหาสาระกฎหมาย ตลอดจนทฤษฎีและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ กว้างขวางกว่ารัฐธรรมนูญ ในทางวิชาการ ถือว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทฤษฎีหรือหลักการมากกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องกฎหมายโดยเฉพาะ |
|||
ข. กฎหมายปกครอง (Administrative Law) | |||
กฎหมายปกครอง คือ กฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการของรัฐ การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองในการจัดบริการสาธารณะ การวางหลักความเกี่ยวพันในทางปกครองระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชนและฝ่ายปกครองด้วยกันเอง และการควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง | |||
กฎหมายที่จัดว่าเป็นกฎหมายปกครองของประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายฉบับ อาทิพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 สำหรับกฎหมายปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายปกครองในกรณีมีความเกี่ยวพันกับเอกชนผู้ใต้ปกครอง ได้แก่ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 เป็นต้น |
|||
ค. กฎหมายอาญา (Penal Law) | |||
กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดเป็นความผิด และกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด โทษทางกฎหมายนี้ ได้แก่ สภาพบังคับหรือวิธีการบังคับเอาแก่ผู้กระทำผิด เรียงตามลำดับความหนักเบา ดังนี้ | |||
(1) ประหารชีวิต | |||
(2) จำคุก | |||
(3) กักขัง | |||
(4) ปรับ | |||
(5) ริบทรัพย์สิน | |||
นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีกฎหมายอื่น ๆที่มีโทษทางอาญา อาทิ พระราชบัญญัติการพนัน พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นต้น | |||
ง. กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลยุติธรรม (Law for the Organization of Courts of Justice) | |||
กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลยุติธรรม คือ กฎหมายที่ว่าด้วยการจัดตั้งศาลและว่าด้วยอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลและของผู้พิพากษา กฎหมายนี้ ได้แก่ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม | |||
จ. กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา (Law of Criminal Procedure) | |||
กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญามาลงโทษ | |||
ฉ. กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง (Law of Civil Procedure) | |||
กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบวิธีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี และบังคับคดีในกรณีที่มีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่ง เหตุที่จัดกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายมหาชนเพราะพิจารณาในแง่ที่ว่าคู่กรณีที่ประสงค์จะให้การเป็นไปตามสิทธิ จะไม่สามารถบังคับเองได้ ต้องมาขอความช่วยเหลือจากศาลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ |
|||
นครินทร์ นันทฤทธิ์ |
|||
|
|||
|
|||