กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 3 สรุปสาระสำคัญกฎหมายอาญา

ความผิดฐานทำให้แท้งลูก

                ความผิดฐานทำให้แท้งลูก บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองทารกในครรภ์มารดาและมารดาและมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นที่เป็นบทบัญญัติคุ้มครองหญิงมารดาด้วยในกรณีที่การทำแท้งนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นหรือถึงตาย กับกรณีจำเป็นต้องทำแท้งเพื่อสุขภาพของหญิงนั้นหรือหญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือฐานจัดหาหรือพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและเป็นการกระทำของแพทย์ ความผิดฐานนี้กฎหมายเอาผิดตั้งแต่หญิงที่ทำแท้ง ความรับผิดของผู้อื่นในกรณีหญิงยินยอมให้ทำแท้ง  ความรับผิดของผู้อื่นในกรณีหญิงไม่ยินยอมให้ทำแท้ง การทำแท้งที่ไม่ต้องรับโทษ และการทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

1. ความรับผิดของหญิงที่ทำแท้ง มาตรา 301 บัญญัติไว้ว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบภายนอก

1. หญิงใด

2. ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก

องค์ประกอบภายใน

เจตนา

                มาตรานี้เป็นบทลงโทษหญิง ซึ่งกระทำแก่ตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำแก่หญิงนั้น คำว่า ทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 4 กรณีคือ

1. หญิงทำให้ตนเองแท้งลูก หมายความว่า หญิงกระทำแก่ตนเองให้แท้งลูกไม่ได้อาศัยผู้อื่นหรือร่วมกับผู้อื่นในการทำแท้ง  ตัวอย่างเช่น นาง ก. ร่วมกับนาย ข. ทำให้นาง ก. แท้งลูก ดังนี้ นาง ก. มีความผิดตามมาตรา 301 แต่นาย ข.มีความผิดตามมาตรา 302 นาย ข. (ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดในคราวต่อไป)

2. หญิงยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก หมายความว่า หญิงสมัครใจให้ทำแก่ตนเอง ไม่ใช่ถูกบังคับขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้าย หรือถูกหลอกลวงหรือทำให้สำคัญผิดในสภาพของการกระทำ เช่น แพทย์หลอกหญิงมีครรภ์ให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำอย่างอื่น ที่มิใช่ทำแท้ง

3. ความหมายของการทำให้แท้งลูก ตามประมวลกฎหมายอาญา คือ การทำลายชีวิตของทารก ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิไปจนถึงคลอดออกมาแล้วแต่ก่อนมีชีวิตอยู่รอดเป็นทารก หรือเป็นความผิดฐานฆ่าทารกในครรภ์มารดาตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ ไปจนถึงคลอดออกมาแล้วแต่ก่อนมีชีวิตอยู่รอดเป็นทารก ตัวอย่างเช่น นางก มีครรภ์ 8 เดือน นาย ข. สามีไปหานักพยากรณ์ดูดวงชะตาเด็กแล้วบอกว่าดวงชะตาเด็กแรง ต้องทำคลอดก่อนกำหนด ถ้ารอให้คลอดเมื่อถึงกำหนดตามปกติ เด็กอาจจะตาย นาย ข. จึงให้แพทย์ผ่าเอาเด็กออกมา เด็กออกมามีชีวิตอยู่ 1 ชั่วโมงจึงตาย  ดังนี้นาย ข. หรือแพทย์ไม่มีความผิดฐานทำให้แท้งลูก

4. วิธีการทำแท้งและผล  ความผิดฐานนี้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นโดยการกระทำ ไม่ใช่ความผิดที่เกิดขึ้นโดยการละเว้น เช่น เจตนาให้ลูกในครรภ์แท้งแต่ไม่ทำอะไรเลย ยังไม่เป็นความผิดฐานทำให้แท้งลูก อย่างไรก็ดี มาตรา 59 วรรคท้าย ให้ความหมายของการกระทำว่ารวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย หมายความว่า หญิงมีครรภ์มีหน้าที่ในฐานะเป็นมารดาจักต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้มีการแท้งลูก แต่งดเว้นไม่กระทำ ทำให้เกิดแท้งลูก ตัวอย่างเช่น หญิงต้องการทำแท้งและทราบว่าการนั่งบนหลังม้าที่วิ่งเร็ว ๆ และบนทางขรุขระทำให้แท้งลูกได้ เมื่อมีผู้ชักชวนจึงขึ้นขี่บนหลังม้าให้พาวิ่งไป ไม่ป้องกันผลคือลูกในท้องตาย และเป็นเหตุให้แท้งลูก หญิงจึงมีความผิดตามกฎหมาย เป็นต้น

นครินทร์ นันทฤทธิ์