กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

หน่วยที่ 2 : พระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์

บทกำหนดโทษ

     ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ได้กำหนดโทษไว้มี 2 ประเภท คือ

          1. โทษสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพตามที่กำหนดไว้

          2. โทษทางอาญาตามที่กฎหมายวิชาชีพกำหนดไว้

    ในการประกอบวิชาชีพ  กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะมาประกอบวิชาชีพฯ ต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ (มาตรา 32) ดังนั้นหากมีการฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ ซึ่งบทโทษสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ มีสาระสำคัญดังนี้ คือ

1)      ว่ากล่าวตักเตือน

2)      ภาคทัณฑ์

3)      พักใช้ใบอนุญาต

4)      เพิกถอนใบอนุญาต

                การว่ากล่าวตักเตือนหรือการภาคทัณฑ์ก็ดี เป็นโทษที่ใช้สำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง และให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมในการประกอบวิชาชีพของตนส่วนการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตนั้นถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงใช้สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดอย่างร้ายแรง ในการประกอบวิชาชีพ สำหรับการพักใช้ใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาตก็ดี ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพ จึงจำเป็นต้องมีการกลั่นกรองจากสภานายกพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด (มาตรา 26 (4))อย่างไรก็ดี หากสภานายกพิเศษมีความเห็นที่ขัดแย้งกับมติของคณะกรรมการในการพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ให้คณะกรรมการสภาการพยาบาลได้มีการประชุมพิจารณาอีกครั้งภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันได้รับทราบการยับยั้ง ถ้ามีการยืนยันมติไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะก็ให้ดำเนินการตามมตินั้นได้ ถือได้ว่าเป็นคานอำนาจของสภานายกพิเศษประการหนึ่ง และยังถือเป็นการให้ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับนโยบายในการกลั่นกรองความคิดเห็นของตนเองอีกครั้งหนึ่ง  สำหรับโทษพักใช้อนุญาตนั้นกฎหมายกำหนดให้พักใช้ใบอนุญาตได้ไม่เกิน 2 ปี ดังนั้นทางคณะกรรมการฯจะกำหนดไว้เท่าใดก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 2 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น ผู้ได้รับโทษนี้ยังมีโอกาสที่จะขอใบอนุญาตได้อีก 2 ครั้งโดยใน ครั้งแรกต้องขอต่อคณะกรรมการแต่ต้องรอให้พ้น 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนก่อน ซึ่งหากคณะกรรมการปฏิเสธแล้ว ก็มีโอกาสอีกครั้ง โดยต้องรอให้ครบหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการฯปฏิเสธการออกใบอนุญาต หากในครั้งที่สองยังได้รับการปฏิเสธจากคณะกรรมการฯ ก็ถือว่าผู้นั้นหมดสิทธิที่ขอรับใบอนุญาตเป็นการถาวร

             ส่วนโทษอีกประการหนึ่งคือ โทษทางอาญา ไม่ว่าจะเป็น การจำคุก หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับนั้น ได้กำหนดไว้ในมาตรา 46,47,48และ48 ทวิ ในมาตราดังกล่าวใช้บังคับทั้งผู้ประกอบวิชาชีพและบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพด้วย ตัวอย่างเช่น บุคคลภายนอกมาแอบอ้างว่าตนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ หากผู้ประกอบวิชาชีพที่ถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตก็ไม่มีสิทธิในการประกอบวิชาชีพเช่นกัน (มาตรา 43,27) หากมีการฝ่าฝืนก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย  ข้อสังเกต สภาการพยาบาลไม่มีสิทธิที่จะให้ผู้ฝ่าฝืนจำคุกหรือได้รับโทษทางอาญาอื่น ๆ แต่จะต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา   สิ่งที่น่าพิจารณาประการถัดมา คือ หากผู้ประกอบวิชาชีพฯถูกพิพากษาจนถึงที่สุดให้จำคุก ผลที่ตามมาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทำให้ผู้นั้นต้องขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสามัญ และไม่มีสิทธิที่จะสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

นครินทร์ นันทฤทธิ์