กฎหมายกับวิชาชีพพยาบาล

...ยินดีต้อนรับสู่บทเรียน..."กฏหมายกับวิชาชีพพยาบาล"....นครินทร์ นันทฤทธิ์...วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี พะเยา...

สรุปสาระสำคัญความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

 ขอบเขตการใช้บังคับกฎหมาย

                ประเด็นที่จะพิจารณามีดังนี้ ได้แก่

                1.  กฎหมายใช้เมื่อใด

                2. กฎหมายใช้ที่ไหน และ

                3.  กฎหมายใช้แก่บุคคลใด

1. กฎหมายใช้เมื่อใด

                ในประเทศไทย มีวิธีการดังนี้ คือ
                (1) ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาวิธีนี้ใช้กับการประกาศรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา รวมทั้งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อให้หน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไปทราบ

                (2) ประกาศโดยเปิดเผย  วิธีนี้เป็นกรณีของกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นออกหนังสือใช้ในท้องถิ่นของตน ตามเงื่อนไขที่ให้อำนาจไว้ เช่น เทศบัญญัติจะประกาศโดยเปิดเผยที่สำนักงานเทศบาล ข้อบัญญัติจังหวัดประกาศโดยเปิดเผยที่ศาลากลางจังหวัด เป็นต้น

                 ระยะเวลาที่ใช้บังคับกฎหมาย โดยปกติจะระบุในกฎหมาย สำหรับกฎหมายที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีต่างกันดังนี้ คือ

                1. ให้ใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                กรณีนี้มักเป็นกรณีรีบด่วน เช่น พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2478 มาตรา 2 บัญญัติว่า "ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป" กฎหมายที่ถูกกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกันกับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามักจะได้แก่ กฎหมายที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีอากร พิกัดอัตราสินค้าต่าง ๆ หรือการควบคุมการสั่งสินค้าเข้าหรือสินค้าออก เป็นต้น

                2.ให้ใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                 เป็นกฎหมายที่ไม่ต้องการความรวดเร็วมากนัก วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้ปฏิบัติอยู่เป็นปกติสำหรับกฎหมายทั่วไปในปัจจุบัน

                3. กำหนดเวลาให้ใช้ในอนาคต

                เพื่อให้เจ้าพนักงานและประชาชนเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติ หรือให้ทางการมีโอกาสตระเตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้ บุคลากร เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น การกำหนดเวลาให้ใช้กฎหมายในอนาคต แบ่งออกได้ 3 กรณีคือ
                3.1  กำหนด วัน เดือน ปี ให้ใช้กฎหมายที่แน่นอน เช่น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 กำหนดให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2500 เป็นต้นไป
                3.2  กำหนดให้ใช้ในอนาคต โดยไม่ระบุวัน เดือน ปี แต่กำหนดให้ใช้เมื่อระยะเวลาหนึ่งล่วงพ้นไป เช่น เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

                3.3  กำหนดให้ใช้ในอนาคตโดยไม่ระบุวัน เดือน ปี หรือระยะเวลาที่แน่นอน แต่กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าจะให้ใช้กฎหมายบังคับเมื่อไร จะประกาศออกมาเป็นกฎหมายระดับรอง เช่น
พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง จะกำหนดสถานที่ และวันใช้บังคับของกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง  เช่น พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.  2518
กำหนดว่าการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นต้น

2. กฎหมายใช้ที่ไหน

                กฎหมายไทยใช้บังคับเฉพาะแต่ในราชอาณาจักร  คำว่า "ราชอาณาจักร" หมายถึง
                . พื้นดินในประเทศไทย (รวมถึงแม่น้ำลำคลองในประเทศไทยด้วย)
                . ทะเลอันเป็นอ่าวไทยตามพระราชบัญญัติ กำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทย ตอนใน      พ.ศ. 2502
                . ทะเลอันห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไทยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล
                . พื้นอากาศเหนือ ก. . และ ค.
                . เรือไทยในท้องทะเลหลวง
                ข้อสังเกต  มีกฎหมายบางฉบับที่ไม่นำไปใช้ทั่วประเทศ แต่จะใช้เฉพาะ ท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยกฎหมายอิสลาม ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ.   2498 ซึ่งบัญญัติถึงเรื่องการวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัว และมรดกของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในเขตจังหวัดดังกล่าว โดยให้ใช้กฎหมายอิสลามในส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัว และมรดกแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การจะใช้กฎหมายฉบับนี้จะต้องเข้าเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายอิสลามกำหนดไว้ด้วย

3. กฎหมายใช้แก่บุคคลใด

                กฎหมายใช้บังคับบุคคลทุกคนที่อยู่ภายในราชอาณาจักรของรัฐนั้น   ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ซึ่งมีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการ คือ
                (1) ข้อยกเว้นตามกฎหมายไทย ซึ่งบัญญัติยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับแก่บุคคลบางคนหรือบุคคลบางจำพวก

                (2) ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

ข้อยกเว้นตามกฎหมายไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้แก่
                (1) พระมหากษัตริย์ แม้จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ก็อยู่เหนือกฎหมายอื่น พระองค์เป็นที่เคารพสักการะ และการกระทำของพระองค์ย่อมไม่เป็นการละเมิดกฎหมาย ผู้ใดจะฟ้องร้องพระองค์ในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือจะกล่าวหาในทางใด ๆ ไม่ได้

                (2) สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ในสมัยประชุมสภาใดสภาหนึ่ง หรือทั้งสองสภาร่วมกัน

นครินทร์ นันทฤทธิ์