ยุพา พูนขำ นักวิชาการสาธารณสุข 7 กองวางแผนครอบครัวและประชากร
น.พ.ลือชา วนรัตน์
พิชิต อิทธิศานต์

อนามัยการเจริญพันธุ์
มุมมองจาก น.พ.สุพร เกิดสว่าง

 

แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จดีเลิศ ทางด้านงานวางแผนครอบครัว แต่สำหรับงานอนามัยการเจริญพันธุ์ ที่มีขอบเขตของงานกว้างขวาง กว่างานวางแผนครอบครัวหลายเท่าตัว เป็นงานที่ครอบคลุมช่วงชีวิตของคนทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ใช่เพียงความหมายแค่ช่วงวัย ชีวิตเจริญพันธุ์ได้เท่านั้น ความสำเร็จในอดีต ณ วันนี้ อาจไม่ใช่บทสรุปว่า เราจะจัดการกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์ เฉกเช่นเดียวกัน เพราะความซับซ้อน และความเกี่ยวพันกัน ขององค์ประกอบต่างๆ ทำให้การเลือกปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติ อาจมีผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นได้ง่าย
จากทัศนะของ นายแพทย์สุพร เกิดสว่าง อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านการวางแผนครอบครัว และงานอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้ให้มุมมองใหม่ และมุมที่หลายคนมักมองข้าม ในหัวข้อสนทนา ดังนี้

HEALTH : ปัจจุบัน มีการพูดถึงเรื่อง "อนามัยการเจริญพันธุ์" กันเป็นอันมาก จึงอยากเรียนถามว่า อนามัยการเจริญพันธุ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมจึงเพิ่งมีการพูดถึง ในระยะหลังนี้

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : เติมคำว่า Reproductive Health เราใช้กันมากนานแล้ว ส่วนคำไทยที่แปลว่า อนามัยการเจริญพันธุ์ เพิ่งใช้กันมาไม่นานมานี้ แต่บางทีเรามักจะเรียกเพี้ยนไปเป็น Human Reproduction ที่เรามาเรียกกันมากในช่วงนี้ เป็นผลจากการประชุมของสหประชาชาติ เรื่อง ประชากรโลก ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2537) ที่เรียกว่า ICPD (International Conference on Population and Development) ซึ่งจัดทุก 10 ปี ประชุมที่ไคโร จึงมักเรียกกันติดปากว่า Cairo meeting ในการประชุมครั้งนั้น มีเรื่องพูดกันหลายเรื่อง แต่ที่เด่น และสำคัญก็คือเรื่อง Reproductive Health ภายหลังเมื่อมาประชุมในกรม ก็มีการพูดคุยกัน ถึงคำเรียกขานที่เป็นภาษาไทย ผลที่สุดก็ใช้คำว่า อนามัยการเจริญพันธุ์ อีกทั้งได้นำเอาหลักการต่างๆ ที่ได้รับจากการประชุม ICPD เข้ามาพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์ ในประเทศไทยของเราให้ดีที่สุด ขณะนั้นทุกประเทศ ก็มีความตั้งใจทำเช่นเดียวกัน

HEALTH : อนามัยการเจริญพันธุ์สำคัญอย่างไร ทำไมการพัฒนาคน พัฒนาประชากรจึงจะต้องพัฒนา งานอนามัยการเจริญพันธุ์ให้ดี

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : คงต้องพูดถึงความครอบคลุมของ อนามัยการเจริญพันธุ์ ว่ามีขอบข่าย และความสำคัญแค่ไหน ก็จะเข้าใจได้ เดิมทีเดียว เมื่อพูดการเจริญพันธุ์ เรามักนึกถึงเฉพาะช่วงอายุที่มีลูกได้ งานที่เราทำในขณะนั้น ก็มุ่งเน้นเรื่องของการวางแผนครอบครัว และอนามัยแม่และเด็กเป็นส่วนใหญ่ โดยเนื้อแท้แล้ว อนามัยการเจริญพันธุ์ เราหมายเอาทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ก่อนเกิดจนกระทั่งตาย เพราะเหตุที่เราจะหวังให้ช่วงอายุ ที่มีลูกได้ มีความสมบูรณ์พร้อม ช่วงอายุอื่นก็จำเป็นต้องดีด้วย ต้องพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา กระทั่งเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพ สามารถให้กำเนิดบุตรธิดาที่ดี มีชีวิตอย่างปกติสุข กระทั่งสูงอายุ และตายอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

HEALTH : เป็นที่ยอมรับกันว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จ ในการดำเนินงานวางแผนครอบครัวเป็นอย่างดี แต่ต่อไปนี้ รัฐจะต้องมีนโยบาย แผนงาน และกลวิธีในการดำเนินงาน อนามัยการเจริญพันธุ์ ภายใต้กรอบขององค์ประกอบที่กำหนดไว้ ท่านคิดว่า รัฐควรจะดำเนินการอย่างไร จึงจะสามารถบรรลุตามเป้าหมาย และประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมา

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : นอกเหนือจาก การวางแผนครอบครัว และงานแม่และเด็ก ทีเราทำกันมาในอดีต จนกระทั่งงานวางแผนครอบครัวของเรา กฌประสบความสำเร็จมากในเอเซีย เราก็คิดกันมากว่า ยังต้องมีงานอีกหลายอย่าง ที่ควรทำ แม้จะยังไม่เป็นนโยบายแห่งชาติ จะให้ดีต้องวางแผนมาตั้งแต่เด็ก ทั้งทางด้านสุขภาพ และทักษะชีวิต เช่น การรู้จักคิด รู้จักพึ่งตนเอง ว่าไปแล้ว จะต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยทีเดียว คือ นอกจากการคลอด การให้นมบุตร องค์ประกอบที่เราให้ความสนใจเช่นกัน ก็คือ เรื่องการทำแท้ง ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะสามารถแก้ปัญหาของการทำแท้งผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้สุขภาพของผุ้หญิง รวมไปถึงสุขภาพในครอบครัวนั้น ถูกกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก อัตราตายก็สูง เป็นเรื่องที่น่าจะรวมอยู่ ในอนามัยการเจริญพันธุ์

องค์ประกอบอีกเรื่อง ก็คือ เรื่องโรคของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งถ้าพูดกันใหญ่ๆ เราก็อาจจะมองถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ อีกด้านหนึ่งก็คือ โรคซึ่งไม่ติดต่อ เช่น มะเร็งปากมดลูก ที่มีอัตราการเกิดสูงกว่าที่อวัยวะอื่น มะเร็งเต้านม ที่ทั้งคู่มีโอกาสเกิดกับผู้หญิงได้มากขึ้นทุกขณะ สำหรับผู้ชายก็ไม่ควรทอดทิ้ง ก็อาจต้องระวังเรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ แต่ปัญหาอาจจะไม่รุนแรงเท่าผู้หญิง
ถัดไปก็คือ องค์ประกอบเรื่อง วัยรุ่น-เยาวชน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะรวมอยู่ในเรื่อง อนามัยการเจริญพันธุ์ ด้วย เรื่องวัยรุ่น เราทำกันมาเยอะ กรมอนามัยเองก็มีโครงการร่วมกัน UNFPA เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เพียงแต่บางช่วง เวลาก็เพลาๆ ลงไปบ้าง เพราะถ้าเราไม่เตรียมวัยรุ่นให้ดี ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหา
ความรู้เรื่องเพศ หรือ เพศศึกษา เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะเพ่งเล้งไปที่วัยรุ่น แต่ผมคิดว่า ผู้ใหญ่เองก็ต้องรู้ด้วย การให้ความรู้เรื่องเพศกับคู่สมรส หรือก่อนแต่งงาน ให้รู้จักความรับผิดชอบในชีวิตครอบครัว รู้เรื่องโรค ติดต่อผ่านไปยังลูก สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานความสำเร็จ ที่สำคัญของครอบครัว และจะส่งผลไปถึงเด็กที่จะเกิดมาด้วย
สำหรับองค์ประกอบสุดท้าย ที่ควรรวมอยู่ด้วย ก็คือ ภาวะมีบุตรยาก ซึ่งผมให้ความสำคัญน้อยหน่อย แต่ก็ไม่ควรจะทอดทิ้งไปเลย ควรจะทำในระดับหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า งานอนามัยการเจริญพันธุ์ มันคลุมกว้างทุกช่วงชีวิต แต่ดูเหมือนว่า เราจะมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิงเสียมากกว่า ผมเคยเสนอในที่ประชุมกรมอนามัยว่า น่าจะดึงผู้ชายให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างเช่น คำว่า แม่และเด็ก ทำไมไม่มีคำว่าพ่อด้วย เพราะพ่อก็สำคัญ การที่ไม่ดึงผู้ชายเข้ามีส่วนร่วมด้วย ทำให้ดูเหมือนว่า เรื่องนี้ผู้ชายเขาไม่เกี่ยวข้องด้วย

HEALTH : ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ ของงานอนามัยการเจริญพันธุ์ เรื่องใดควรทำก่อนหลัง และจะมีวิธีจัดลำดับความสำคัญของปัญหาอย่างไร

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : ที่จริงเราควรจะทำไปพร้อมๆ กันทุกองค์ประกอบ เพียงแต่ในบางเรื่อง ที่มีความสำคัญน้อย เราอาจจะทำเพียงระดับหนึ่ง เช่น ภาวะมีบุตรยาก หากรัฐจะรับผิดชอบก็คงจะลงไปลึกมากไม่ได้ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมาก เรื่องการให้ฮอร์โมนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ก็เช่นกัน 2 เรื่องนี้ ผมยังให้ความสำคัญน้อยอยู่ แต่องค์ประกอบอื่น ผมว่ามันเกี่ยวพันกันหมด มีความสำคัญพอกัน เช่น เรื่องการวางแผนครอบครัว ก็ไม่ใช่เวลานี้ เราประสบความสำเร็จแล้ว จะหยุดได้ จะต้องมีการพัฒนาต่อ และเวลานี้ ถึงแม้ว่าจะทำได้สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่า ดีไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะคุณภาพ และในระดับปฏิบัติการส่วนท้องถิ่น ก็ยังคงต้องการความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ผมเองได้สัมผัสตรงนี้มามาก เพราะต้องออกไปเป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง การวางแผนครอบครัว ก็พบว่า เจ้าหน้าที่เอง เขาอยากได้ความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น เพราะข้อมูลข่าวสาร ยังไปไม่ถึงเขาเท่าใดนัก และบริการบางอย่าง ส่วนกลางจะต้องนำไปปรับปรุง เช่น เจ้าหน้าที่บ่นว่า เรื่องการใส่ยาฝังคุมกำเนิด รณรงค์ให้ใช้ ใส่ให้ฟรี แต่พอคนไข้มีอาการข้างเคียงมารับการรักษา จะต้องเสียเงิน เอาออกก็ต้องเสียเงิน มันไม่ครบวงจร จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก

ความจริงในหลายๆ ด้าน เราก็ได้ทำกันมานานแล้วทั้งนั้น เพียงแต่ขาดความต่อเรื่อง ขึ้นๆ ลงๆ เลยไม่ได้ผล ยกตัวอย่างเช่น การป้องกันการทำแท้ง การทำแท้งผิดกฎหมาย ซึ่งมันเกี่ยวพันกับเรื่องวัยรุ่น เกี่ยวกับเพศศึกษา และการพัฒนาเด็ก เลยต้องไปด้วยกัน

HEALTH : บทบาทใหม่ที่รัฐควรจะต้องทำ และควรจะต้องเป็น เพื่อให้งานอนามัยการเจริญพันธุ์ ก้าวไปสู่ความสำเร็จ เหมือนกันงานวางแผนครอบครัว ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : ผมคิดว่า เราอาศัยรูปแบบเดิมไม่ได้ คือ ความสำเร็จในการวางแผนครอบครัวนั้น ไม่ได้เกิดแต่ฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพนั้น มีส่วนช่วยอย่างมาก หากเรามีการขยายขอบเขต ให้กว้างออกไป เราก็น่าจะดึง NGO มาร่วมด้วย นอกจาก NGO แล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามโรงพยาบาลเอกชน กว่า 400 โรงพยาบาลทั่วประเทศ รับผิดชอบสุขภาพของประชาชนมากพอควร โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ก็น่าจะหันมาช่วยสังคมบ้าง แต่ไม่ใช่มาช่วยฟรี เช่น ช่วยเรื่องการวางแผนครอบครัว หากมีคลินิกวางแผนครอบครัว เก็บเงินไม่มาก ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐลงได้ ทำให้คลินิกวางแผนครอบครัวของรัฐ ไม่แออัด บริการก็จะดีขึ้น ยิ่งในเรื่องของการให้ผู้ชาย เข้ามามีส่วนร่วมในการคลอดบุตร โรงพยาบาลของรัฐทำได้ยาก เพราะจำนวนคนไข้ที่มาคลอดบุตรมีมาก ถ้งดึงผู้ชายเข้ามาก็จะเป็น 2 เท่า ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนสามารถทำได้ดีกว่า จะตรวจเลือดก็ทำทั้งสามีภรรยาได้ เวลาตรวจครรภ์ ก็ให้สามีเข้ามาด้วย เสมือนมาร่วมท้อง มาเรียนรู้ มีคอร์สอบรมเรื่อง การตั้งครรภ์ และการคลอด ซึ่งถ้าสามีเรียนผ่านแล้ว ก็จะให้สิทธิมาช่วยภรรยาในห้องคลอดได้ ถ้าสามีเข้ามามีส่วนร่วมแบบนี้ ความรู้สึกผูกพันในครอบครัว จะมีมากขึ้น ความอยากไปเที่ยวนอกบ้านจะมีน้อยลง

HEALTH : จากข้อมูลวิจัย แนวโน้มการมีเพศสัมพันธุ์ ระหว่างเพื่อนของวัยรุ่น และหนุ่มสาว (อายุ 10-24 ปี) เพิ่อมมากขึ้น ปัญหานี้น่าจะเกิดจากอะไร

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : ผมทำเรื่องวัยรุ่นมามาก จะเห็นได้ว่า วัยรุ่น เดี๋ยวนี้ไม่ได้พิสดารกว่าวัยรุ่นสมัยก่อน แต่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ทำให้ดูว่า วัยรุ่นจะมีปัญหา เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธุ์ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชอบเสี่ยง ชอบลอง รับข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว ปัญหาอยู่ที่ว่า รับมาไม่ทั้งหมด เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธุ์ก่อนแต่งงาน ที่เอาแบบมาจากทางตะวันตก ซึ่งถือกันว่า เป็นเรื่องธรรมดา แต่วัยรุ่นไทยรับเอามา แต่เรื่องมีเพศสัมพันธุ์ ไม่ได้รับเรื่องของการป้องกันตัวเอง และความรับผิดชอบมาด้วย ผมเคยคุยกับผู้ที่สอนเพศศึกษา ในเนเธอร์แลนด์ เขาพูดอย่างปกติเลยว่า วัยรุ่นหญิงที่นั่น อายุระหว่าง 16-17 ปี มีเพศสัมพันธุ์หมดทุกคน แต่อัตราการติดเชื้อ และการทำแท้งกลับมีไม่มาก เพราะเขารู้จักป้องกันตัวเอง เขาใช้วิธีคุมกำเนิดที่เรียกว่า double dutch คือ ผู้หญิงทุกคนจะกินยาเม็ดคุมกำเนิด และใช้ถุงยางอนามัยด้วย วัยรุ่นของเขาไปไหนมาไหน เขาก็พกถุงยางอนามัย เป็นของธรรมดา ของเราถ้าวัยรุ่นผู้หญิงพกถุงยางก็คงไม่ไหว สังคมจะมองไม่ดีไปเลย

ในด้านการป้องกัน เราจะต้องทำเหมือกับการฉีดวัคซีน คือ เราป้องกันโรคไม่ให้มาถึงตัวคนไม่ได้ แต่เราให้ภูมิคุ้มกันโรคได้ ภูมิคุ้มกันสำหรับวัยรุ่นนั้น ต้องสอนกันมาตั้งแต่เด็ก มาสอนตอนเป็นวัยรุ่นมันช้าเกินไป ต้องสอนกันตั้งแต่ขวบสองขวบเลย พัฒนากันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถึงวัยรุ่น สอนควบคู่กันไป ทั้งเรื่องเพศศึกษา และทักษะชีวิตต่างๆ ด้วย ความคิดที่จะป้องกันตัวเองจะเกิดขึ้น
เห็นได้ชัดว่า ปัญหาเรื่องวัยรุ่น หนีไม่พ้นต้องมีการพัฒนามาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะสอนแต่เรื่องเพศศึกษาให้กับวัยรุ่นอย่างเดียว ควรจะดึงความสนใจของวัยรุ่น ให้มาสนใจในเรื่องอื่นๆ บ้าง เช่น กีฬา หรือห้องสมุด
ขณะนี้ ผมว่า ถึงแล้วที่เราจะต้องพูดกันให้ชัดว่า ถ้าวัยรุ่นเขาต้องการที่จะใช้วิธีคุมกำเนิด เราจะยอมไหม เราจะให้บริการไหม เพราะยังมีวัยรุ่นส่วนหนึ่งที่เขาต้องการ ถ้าเราไม่ให้ เขาก็ต้องไปหาเอาตามบุญตามกรรม แต่ถ้าเราให้บริการ ให้คำแนะนำที่ดีแก่เขา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง และไม่เกิดปัญหา ถึงแม้ว่าจะมีข้อถกเถียงกันอยู่มากว่า จะเป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธุ์ กันมากขึ้นหรือเปล่า ผมก็คิดว่า มันอาจจะมีส่วนอยู่บ้าง แต่คงไม่มาก และก็ต้องมาชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสีย คิดว่าควรจะตกลงกันได้เสียที เรื่องนี้โดยมาก เสียงที่ออกมาจากสังคมมักจะเห็นด้วย แต่ว่าพอถึงเวลาออกมาพูดกันจริงจัง ไม่มีใครกล้าพูด และการยอมรับก็ยังไม่เท่ากัน เช่น วัยรุ่นในโรงเรียนที่เราเคยทำโครงการ เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ชายสามารถเอาถุงยางไปแจกเพื่อน ได้เวลาจะมีเพศสัมพันธุ์ โรงเรียนและครูยอม แต่พอถึงยาเม็ดคุมกำเนิด ครูบอกไม่ได้ เอาไปไว้ที่ครู นักเรียนหญิงคนไหนจะกล้าไปเบิก คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องพูดกันจริงจัง มันไม่ได้หมายความว่า เราไปส่งเสริม เราเพียงเข้าไปช่วยในกรณีที่รั้งไม่อยู่แล้วเท่านั้น

HEALTH : อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับการทำแท้ง และสภาวะแทรกซ้อนในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่มีความเกี่ยวโยง กับงานอนามัยการเจริญพันธุ์ด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : เรื่องนี้ยากจริงๆ ผมเคยเป็นประธานอนุกรรมการ พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง เคยเสนอที่จะแก้กฎหมาย แต่ไม่ผ่าน รัฐบาลล้มเสียก่อน ปมมานั่งคิดอีกที ถึงแม้ว่า เราจะแก้กฎหมายตอนนั้น ก็คงไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะการแก้กฎหมาย เป็นเพียงแต่เพิ่มเงื่อนไขทางการแพทย์ ที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ มันชัดเจนขึ้น เช่น ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมัน ลูกที่เกิดมาอาจพิการ ก็อาจทำแท้งได้ หรือแม่วางแผนครอบครัวผิดพลาด แต่กรณีเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ที่จริงแล้ว คนที่ต้องการทำแท้งส่วนใหญ่ ทำแท้งไม่ใช้ด้วยปัญหาพวกนี้ แต่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม เช่น ตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน ตกงานไม่มีเงินพอเลี้ยงลูก ผมคิดว่า ถ้าเราจะเอาข้ออนุญาต เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมเข้าไปนั้น มันยากมาก ประการแรกคนคงรับไม่ได้ ประการที่สอง กฎหมายเองก็ลำบาก เพราะจะตั้งเกณฑ์ได้ลำบาก และคงจะต้องถกเถียงกันมากในสังคมไทย ก็ยังไม่รู้ว่าเราจะไปถึงไหนกัน ในเรื่องนี้ และเรามักจะไปมองในแง่ที่ว่า ถ้าเราอนุญาตให้ทำแท้งได้ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และสังคมนี้ ศีลธรรมจะเสื่อม แต่ถ้าเรามองดูประเทศที่เขาอนุญาตในเอเซีย ก็มีสิงคโปร์ คุณภาพของเขาก็ไม่เลวเลย ที่ฮอลแลนด์ สถิติการทำแท้งต่ำที่สุดในโลกด้วย

ถ้าเราคิดกันดูอีกที สมมติว่า เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเกิดมีครรภ์ขึ้นมา ท่ามกลางการไม่ยอมรับของพ่อแม่ และสังคม ถ้าเผื่อว่า มีโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ ยอมรับให้แกไปหา และให้การปรึกษาได้ เพื่อหาทางออกให้ ซึ่งอาจจะให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้ หรือต้องทำแท้งก็ได้ แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว ปัญหามันจะจบลง เด็กหญิงก็จะไม่ชอกช้ำ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และมีโอกาสกลับมาเป็นคนใหม่ได้ แต่ในปัจจุบัน แกไม่รู้จะไปไหน ก็ต้องไปหาหมอ ทั้งเถื่อน หรือไม่เถื่อน ที่รับทำแท้งให้โดยผิดกฎหมาย ต้องตากหน้าไปเที่ยวหา ทั้งยังต้องจ่ายในราคาที่แพงมากด้วย
จะว่าไปแล้ว เราก็ทราบกันดีอยู่ว่า การทำแท้งในบ้านเรานั้นมีอยู่ แต่ทำได้และปลอดภัย เฉพาะคนที่มีเงิน ถ้าโรงพยาบาลของรัฐทำให้เมื่อไหร่ ราคาพวกนี้ก็จะต่ำลง คนจนก็จะทำได้ แต่จะทำได้คงต้องยอมรับความจริง และพูดกันออกมาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง แต่จะมีรัฐบาลไหน กล้าสนับสนุกฎหมายทำแท้ง เพราะจะกลายเป็นเป้าหมายให้ฝ่ายค้านโจมตี รัฐบาลที่จะทำได้ต้องเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากจริงๆ

HEALTH : เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ชาย เรื่อง การทำหมันชาย หรือการใช้ถุงยางอนามัย จากสถิติ พบว่า อัตราการทำหมันนับว่ายังน้อยกว่าในอดีตมาก ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสำเร็จของงานวางแผนครอบครัวด้วย ท่านคิดว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเช่นใด

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : เรื่องนี้ผมอาจมีมุมมองที่ไม่เหมือนผู้อื่นนัก ที่มักพยายามบังคับให้ผู้ชายทำหมัน และถ้าหากว่าบังคับได้ ถือว่าเป็นความสำเร็จ ผมคิดว่า เราทำไม่ตรงจุด เราคงต้องยอมรับว่า วิธีคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายนั้นมีน้อย มีแค่การทำหมัน กับการใส่ถุงยางอนามัย เรื่อง การทำหมันชายอาจจะต้องยอมรับว่า ผู้ชายกลัวมาก และถ้าเขากลัว และเราก็พยายามบังคับให้เขาทำ เขาก็จะกลายเป็นคนประสาทไป ผมว่าเรื่องนี้ ควรเป็นความสมัครใจ จุดสำคัญที่จะให้ผู้ชายมีส่วนร่วม ไม่ได้อยู่ที่ต้องทำหมัน แต่ต้องให้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ตั้งแต่เริ่มแต่งงาน การวางแผนมีบุตร การมีส่วนร่วมในการตั้งท้อง กระทั่งการคลอดของภรรยา มีส่วนร่วมในการอมรมเลี้ยงดูบุตร สิ่งเหล่านี้ ผมถือว่า มีส่วนสำคัญมาก ความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัว เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ส่วนข้อที่ว่า ใครจะเป็นผู้คุมกำเนิดนั้น มันเป็นข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างสามีภรรยา มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่บอกว่า จะทำหมันเอง แต่ก็ยอมรับว่า ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงนี่ ความกลัวในเรื่องถูกผ่า ผู้ชายกลัวมากกว่าผู้หญิง อาจเป็นเพราะว่าผู้ชายจะกล้าเรื่องอื่น แต่พอเรื่องเห็นเลือด จะกลัว ขณะที่ผู้หญิงเห็นเลือดมาเรื่อย และสิ่งที่ผู้ชายกลัวมากที่สุด ก็คือ กลัวว่าสมรรถภาพทางเพศจะเสื่อม ถึงบอกว่าไม่เกี่ยว ก็ไม่ยอมเชื่อ เราคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ อย่าไปบังคับเขา ให้เขาตัดสินใจเอง เราให้ข้อมูล และต้องหาวิธีดึงให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม กับครอบครัวให้มากกว่าที่เป็นอยู่

HEALTH : ประเด็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น พฤติกรรมรักร่วมเพศ หรือพ่อข่มขืนลูก เริ่มพบเห็นในสังคมไทยบ่อยมากขึ้น แม้จะไม่มตัวเลขแสดงชัดเจน ปัญหาเหล่านี้ เราควรเข้าไปมองที่จุดใด

น.พ.สุพร เกิดสว่าง : แรกสุดอยู่ที่การป้องกัน เราคงต้องยอมรับว่า กรมสุขภาพจิตกรมเดียวคงทำไม่ไหว และก็ต้องยอมรับอีกว่า บางอย่าง เราก็ไม่ทราบว่า สาเหตุมาจากอะไร อย่างเข่น รักร่วมเพศ ถึงแม้จะเพ่งเล็งไปที่การอบรมเลี้ยงดูตอนเด็ก แต่ว่ามันก็ยังไม่ชัดเจน ถ้าพูดรวมๆ ก็คงอยู่ที่การพัฒนาตั้งแต่เด็กๆ มาเลย คือ ถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีมาเรื่อยๆ เราอาจจะเชื่อว่า พฤติกรรมเบี่ยงเบนคงจะน้อย แต่ก็คงไม่หมดไปเลย

ปัญหาเรื่องรักร่วมเพศ ที่จริงปัญหามันคงจะไม่มากนัก ถ้าเผื่อว่า คนทั่วไปไม่มองเขาไปในทางที่ไม่ดี ไม่เป็นตัวตลก คนที่เป็นโฮโมเซ็กชวล ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และเป็นคนดีของสังคมก็มีไม่น้อย ปัญหาของโฮโมฯ อยู่ที่ความรู้สึกว่า เขาไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ส่งผลให้เกิดอารมณ์รุนแรง และอีกประการหนึ่งก็คือ เรื่อง เอดส์ ที่คนทั่วไปเหมาเอาว่า แพร่มาจากพวกโฮโมฯ นั้น ความจริง การแพร่ระบาดก็ไม่ต่างอะไรกับ พวกรักร่วมเพศเลย เพียงแต่การมีเพศสัมพันธุ์ทางทวารหนัก มักติดโรคได้ง่าน และเร็วกว่าการมีเพศสัมพันธุ์ทางช่องคลอด และในบ้านเราก็พบว่า การแพร่กระจายของโรคเอดส์ ในกลุ่มรักร่วมเพศชายนั้น ไม่มากเท่าไหร่ เพราะเขาควบคุมได้ดีกว่าในกลุ่มรักต่างเพศ
เรื่องที่เราควรจะต้องทำ ก็คือ มองคนที่เป็นโฮโมฯ ว่า เขาเป็นเพื่อนร่วมสังคมเดียวกับ เรายอมรับเขา ปัญหาต่างๆ แทบจะไม่มีเลย คนพวกนี้เขาต้องการให้สังคมยอมรับ และเข้าใจ เพราะเขารู้ตัวดีว่า การที่เขาเกิดมาเป็นแบบนี้ เขาต้องลำบาก แม้ช่วงเวลาหนึ่ง อยากจะกลับมาเป็นคนธรรมดา แต่เขาทำไม่ได้ เคยมีเด็กนักเรียนมาหาผม และบอกว่า ให้ช่วยฉีดฮอร์โมนเพศชายให้ เพื่อที่ความรู้สึกที่ชอบผุ้ชายด้วยกัน จะได้ลดน้อยลงบ้าง เห็นได้ชัดว่า ตัวเขาเองไปม่อยากจะเป็น แต่ใจมันห้ามไม่ได้
แต่ถ้าจะบอกว่า พวกรักร่วมเพศมีมากขึ้นหรือเปล่านั้น ผมยังไม่ค่อยเชื่อนะ เพียงแต่ว่ามีนปรากฎขึ้นมาชัดขึ้น อาจจะเป็นเพราะสื่อมวลชน และการที่สังคมยอมรับเขามากขึ้นด้วย เขากล้าเปิดเผยตัวเองออกมา ซึ่งดีกว่าปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้
และถ้าพูดถึง พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ เช่น พวกซาดิสท์ พวกพ่อข่มขืนลูก ผมก็ยังไม่รู้สึกว่า มันมีมากขึ้นจริงหรือเปล่า เพียงแต่ว่าพอเป็นข่าวแล้ว มันเป็นที่สนใจของคนทั่วไป สาเหตุคงต้องถามจิตแพทย์ เราไม่รู้สาเหตุที่แน่นอน แต่ผมเชื่อว่ามีไม่มากนัก