นพ.อำพล
จินดาวัฒนะ
ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
ในสมัยที่ผมเรียนแพทย์ เรียนสาธารณสุข เมื่อ 30 ปีก่อน ตำราสอนว่า งานการแพทย์ และสาธารณสุข มี ปฏิบัติการบริการ (Intervention) เดี๋ยวนี้ก็ยังสอน ยังเรียนแบบนี้
4 ปฏิบัติการนั้นก็คือ การส่งเสริมสุขภาพ (Health promotion) การควบคุมป้องกันโรค (Disease prevention & control) การวินิจฉัย และการรักษาพยาบาล (Diagnosis & treatment) และการฟื้นฟูสภาพ (Rehabilitation)
การส่งเสริมสุขภาพ ส่วนใหญ่จะหมายถึง งานบริการของบุคลากรสาธารณสุข เพื่อทำให้คนมีสุขภาพดี ได้แก่ การดูแลอนามัยแม่อละเด็ก การวางแผนครอบครัว การดูแลหญิงตั้งครรภ์ก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด การดูแลทารก และเด็ก การให้วัคซีน การโภชนาการ การให้สุขศึกษา การให้คำปรึกษาแนะนำ การอนามัยโรงเรียน เป็นอาทิ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งบริการที่บุคคล (Individual care) โดยบางเรื่องเลยไปถึงครอบครัว และชุมชนด้วย
ที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพในมิติที่ครอบคลุมไปถึงชุมชน และสังคมโดยตรง จะสอดแทรกอยู่ในงานสาธารณสุข (public health activities) ไม่ได้เรียกว่า เป็นการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การพัฒนาสุขาภิบาลอาหาร และอนามัยสิ่งแวดล้อม การจัดหาน้ำสะอาด การกำจัดขยะ และสิ่งปฏิกูล เป็นต้น
การส่งเสริมสุขภาพในความหมายที่เป็น 1 ใน 4 ปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้คนมีสุขภาพอนามัยดี แฝงนัยของการที่ ต้องมีบุคลากรสาธารณสุข ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะ เป็นผู้จัดบริการให้กับประชาชน เป็นหลัก โดยฝ่ายประชาชนก็ต้องดูแล และปฏิบัติพร้อมกันด้วย
ราว 20 ปีเศษมานี้ (ปี 2520) องค์การอนามัยโลก ได้เสนอยุทธศาสตร์ "การสาธารณสุขมูลฐาน" (Primary health care) ออกมาให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ การสาธารณสุขมูลฐานนี้ วางอยู่บนแนวคิดว่า เรื่องสุขภาพจะปล่อยให้ประชาชน รอรับบริการจากฝ่ายบุคลากรสาธารณสุข อย่างเดียวไม่ได้ ฝ่ายประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม อย่างแข็งขัน ในเรื่องที่ประชาชนทำเองได้ด้วย จึงจะทำให้เกิดการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for all) ได้
ประเทศในแถบยุโรป ทำเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เป็นเรื่องของการพัฒนาการบริการการแพทย์ และสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ โดยบุคลากรสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนบ้านเราลงไปทำเรื่องการส่งเสริม กิจกรรมชุมชน ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนในชุมชน การอบรมผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นตัวแทนภาคประชาชน ในการส่งเสริม แนะนำ สนับสนุนการดูแลสุขภาพ คนในชุมชน ถัดจากบุคลากรสาธารณสุขลงไป ปัจจุบัน อบรมปรับ ผสส. เป็น อสม. ทั้งหมดแล้ว มี อสม. ทั้งประเทศ กว่า 5 แสนคน
บางคนบอกว่า ที่จริงยุทธศาสตร์การสาธารณสุขมูลฐาน หมายถึง ยุทธศาสตร์การพึ่งตนเอง ด้านสุขภาพเพื่อการดูแลตนเอง (Self care) ไม่น่าจะไปติดอยู่แค่เรื่อง ผสส. อสม. เท่านั้น
ต่อมาหลังจากนั้นเกือบสิบปี เมื่อปี 2529 องค์การอนามัยโลกได้ผลักดันแนวคิดใหม่ ออกมาอีกระลอกหนึ่ง นั่นคือ ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ (Health promotion strategy) โดยออกมาเป็นกฎบัตรออตตาวา (Ottawa charter) ขยายความ "การสร้างเสริมสุขภาพ" ออกไปจากความเข้าใจเดิมๆ ให้มีความหมายใหม่ว่า คือ "กระบวนการของการเพิ่มสมรรถนะ ให้คนสามารถควบคุมปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ และเป็นผลให้บุคคลมีสุขภาพดี สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ให้เหมาะสม รวมไปถึงการปรับสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี" ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 องค์ประกอบ คือ
- การสร้างนโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพ (Healthy public policy)
- การสร้างสิ่งแวดล้อม / สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (Create healthy environment)
- การสร้างเสริมความเข้มแข็งชุมชน / กระบวนการชุมชน (Community strengthening)
- การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลให้ สามารถปรับพฤติกรรมเพื่อการสร้างสุขภาพ (Personal skill development)
- การปรับเปลี่ยนระบบบริการการแพทย์ และสาธารณสุข ให้เป็นไปในลักษณะผสมผสาน และองค์รวม (Health care service system re-orientation)
ตรงนี้นับว่า ก้าวสำคัญของเรื่องสุขภาพอีกก้าวหนึ่งทีเดียว เพราะเป็นการประกาศว่า เรื่องสุขภาพเกี่ยวข้องเชื่อมโยง กว้างกว่าเรื่อง การบริการการแพทย์ และสาธารณสุขมาก การส่งเสริมสุขภาพในความหมายเดิมๆ ที่หมายถึงปฏิบัติการทางการแพทย์ และสาธารณสุข ดังได้กล่าวไปแล้ว ได้ขยายกว้างออกไป เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการมีสุขภาพดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ที่กว้างกว่าระบบ การแพทย์และสาธารณสุข
เหมือนกับเป็นการประกาศว่า เรื่องสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น การส่งเสริมสุขภาพ หรือการสร้างเสริมสุขภาพ ก็ไม่ใช่เร่องเฉพาะ ของการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น
สำหรับประเทศไทย ปรากฎว่า การขานรับยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ชัดเจนมากนัก อาจเนื่องมาจากว่า กระแสสาธารณสุขยังไหลต่อเนื่อง ประกอบกับหลังจากนั้นไม่นาน ประเทศของเราก็ย่างเข้าสู่ ที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมาก (เศรษฐกิจบูม) จนพากันฝันว่า จะเป็นนักส์ เกิดการขยายบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขขนานใหญ่ตามไปด้วย มีโรงพยาบาล และเตียงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในทั้งภาครัฐ และเอกชน มีการผลิตบุคลากรสาธารณสุข เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สั่งเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ ราคาแพงๆ เข้ามามากมายจนบางพื้นที่ มีสัดส่วนเครื่องมือราคาแพงเหล่านั้น ่ต่อประชากรสูงกว่าในอังกฤษเสียอีก
สุขภาพถูกทำให้เป็นเรื่ององการแพทย์การสาธารณสุข หนักเข้าไปอีก หาคนสนใจเรื่องยุทธศาสตร์ การสร้างเสริมสุขภาพได้น้อย แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีเสียทีเดียว เพราะมีความพยายามพูดถึง และทำกันอยู่บ้าง เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ โครงการมืองน่าอยู่ เป็นต้น แต่ไม่เกิดเป็นกระแสที่แรงมากนัก
ในส่วนของสังคม มีการขับเคลื่อนการรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบบุหรี่ เป็นการเคลื่อนไหวที่หนักแน่น และต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย สาธารณะเพื่อสุขภาพ มี อาจารย์หทัย ชิตานนท์ อาจารย์ประกิต วาทีสาธกกิจ และ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่แตกตัวมาจาก มูลนิธิหมอชาวบ้าน เป็นแกนผลักดันสำคัญ จนทำให้ประเทศของเรามีกฎหมายดีๆ เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบหลายฉบับ และมีกระแสสังคม ส่งเสริมสนับสนุน การไม่สูบบุหรี่ ต่อเนื่อง และยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นตัวอย่างของการผลักดัน นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ตามยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นรูปธรมอย่างหนึ่ง ในสังคมไทย ซึ่งนโยบายสาธารณะนั้น ปรากฎรูปธรรมออกมา เป็นทั้งกฎหมาย และเป็นทั้งการเคลื่อนไหวของสังคม (Social movement) โดยมีนักวิชาการ และมีองค์ความรู้ เป็นฐานดูแลติดตาม และผลักดันอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด
และจากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเหล่านั้น โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นแกนนำ ทำให้ประเทศของเราเกิด พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้น เมื่อปี 2544 (ช่วงแรกออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ต่อมาออกเป็นพระราชบัญญัติ) ให้เก็บภาษีเหล้า และบุหรี่เพิ่มขึ้น จากภาษีที่เก็บตามปกติ อีกร้อยละ 2 มาใช้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ของผู้คน และองค์การทุกภาคส่วน ให้ทำงานสร้างเสริมสุขภาพกันอย่างหลากหลาย และหว้างขวาง
เป็นการทำให้ "การสร้างเสริมสุขภาพ" กลายเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่อง เทคนิควิชาการเฉพาะของบุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น อีกต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2541 สวรส. ได้จัดประชุมวิชาการประจำปี (จัดทุก 2 ปี ในชื่อว่า "ส่งเสริมสุขภาพ : บทบาทใหม่แห่งยุคของทุกคน" เพื่อทบทวนงานวิชาการ และสร้างกระแสการสร้างเสริมสุขภาพ ที่อิงแนวคิดมาจาก กฎบัตรออตตาวา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเหมาะ เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุควิกฤตเศรษฐกิจพอดี ระบบสุขภาพก็เป็นระบบหนึ่ง ที่จำเป็นต้องคิดปรับตัว เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการซ่อมสุขภาพเสีย ที่ทะยานสูงขึ้นอย่างมาก ในช่วงเศรษฐกิจบูม ให้กลับมาในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ประกอบกับ กระแสสุขภาพโดยรวม ทั้งโลก กำลังขยายตัว เกิดแนวคิดทางเลือกต่างๆ เพื่อสุขภาพมากขึ้น เช่น กระแสชีวจิต กระแสการแพทย์ทางเลือกนานาชนิด เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นว่า การแพทย์และสาธารณสุขตะวันตก หรือที่เรียกว่า แผนปัจจุบัน (Main-stream medicine / public health) ไม่ใช่คำตอบเดียว ของเรื่องสุขภาพอีกต่อไป
คำว่า Health promotion ซึ่งใช้คำไทยว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" เป็นการปฏิบัติการบริการของบุคลากรสาธารณสุข เพื่อสุขภาพของประชาชน ได้ถูกขยับให้มีความหมายกว้างขึ้น เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ของการทำให้เกิดสุขภาพดี มีการนำคำว่า "การสร้างเสริมสุขภาพ" มาใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งสื่อความหมายไปถึงทั้ง "การสร้าง" คือ การทำขึ้นใหม่ และ "การเสริม" คือ การทำเพิ่มขึ้น ที่ทุกคน ทุกฝ่ายทำได้ และช่วยกันทำได้ ในขณะที่มีบางส่วน บางเรื่อง ต้องรอการ "ส่งเสริม" จากคนอื่นด้วย
ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นงานที่บุคลากรสาธารณสุข จัดบริการให้กับประชาชน ก็ไม่ได้ลดความสำคัญลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม งานในส่วนนี้ก็ไม่ได้ลดความสำคัญลง แต่อย่างใด ตรงกันข้าม งานในส่วนนี้ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปริมาณ และคุณภาพ และต้องเพิ่มสัดส่วนงานให้มากขึ้น เมื่อเทียบกับงานรักษาพยาบาลอีกด้วย เพราะที่ผ่านมา สัดส่วนงานส่งเสริมสุขภาพ เมื่อเทียบกับงานรักษาพยาบาล ค่อนข้างต่ำ ถึงต่ำมาก
"ทำไมต้องใช้คำว่า สร้างเสริมสุขภาพ เราใช้คำว่า ส่งเสริมสุขภาพ มานานแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องเปลี่ยนเลย"
มีบางท่านติงในเรื่อง ของการใช้คำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะบุคลากรสาธารณสุข คุ้นชินกับคำว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" มาช้านาน แต่ที่จริงแล้ว จะใช้คำไหนคงไม่สำคัญ เท่ากับความเข้าใจ ในเนื้อหาว่า เรื่องนี้มีนัยยะ 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็นงานปฏิบัติบริการ ของบุคลากรสาธารณสุข (Health promotion intervention) กับระดับที่เป็นยุทธศาสตร์ เพื่อการมีสุขภาพดี (Health promotion strategy)
บังเอิญเหลือเกินว่า เมื่อมีผู้คิดใช้คำไทยว่า "การสร้างเสริมสุขภาพ" แล้วดูว่า จะให้ความหมายที่กว้าง และลึกกว่า "การส่งเสริมสุขภาพ" คำนี้จึงติดปาก ติดหูผู้คนทั่วไป ค่อนข้างจะรวดเร็ว
แล้วก็มาถึงช่วงของการเคลื่อนไหว เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในปี 2543 ด้วยการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของคนไทย เป็นการชวนกันวาง จินตนาการเรื่องสุขภาพกันใหม่ โดยวางไว้ที่เรื่องของ "สุขภาพดี" (wellness) แทนที่จะวางไว้ที่ "สุขภาพเสีย" (illness) (ภาพที่ 1 และ 3) อันเป็นที่มาของสโลแกนที่ว่า "สร้างนำซ่อม" ซึ่งก็ตรงกับยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพนั่นเอง
ภาพที่ 1 จินตนาการใหม่ในเรื่องสุขภาพ ภาพที่ 2 ความหมายของสุขภาพ หรือสุขภาวะ โดยในกระบวนการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ ได้กลายเป็นเครื่องมือชักชวน สนับสนุน ทำให้สังคมมีการเคลื่อนไหว เพื่อการปฏิรูป ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง สุขภาพ มาเน้นที่ การร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบซ่อมสุขภาพ ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
และในตัวร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ได้วางทิศทาง และแนวทางของระบบสุขภาพ ในแนว "สร้างนำซ่อม" เป็นหลัก อย่างในมาตรา 7 ก็เขียนไว้ว่า
"ระบบสุขภาพต้องมุ่งเน้น เพื่อ สร้างเสริมสุขภาพของคนทั้งมวล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ในการสร้างเสริมสุขภาพ ... เพื่อประโยชน์ของคนและสังคม (ภาพที่ 2)"
ในมาตรา 3 ได้เขียนความหมายของ "การสร้างเสริมสุขภาพ" ไว้ว่า หมายถึง การใดๆ ที่มุ่งกระทำโดยส่งเสริม สนับสนุนพฤติกรรมบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างให้บุคล ครอบครัว และชุมชน มีสุขภาวะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ในแนวนโยบาย และยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ หมวดที่ 6 ส่วนที่ 2 ว่าด้วย การสร้างเสริมสุขภาพ ก็เขียนไว้อย่างกว้าง และครอบคลุมยุทธศาสตร์ การสร้างเสริมสุขภาพ อย่างมาตรา 66 เขียนว่า "การสร้างสุขภาพให้เป็นไปเพื่อ ให้เกิดสุขภาวะทั่วทั้งสังคม ลดการเจ็บป่วย การพิการ และการตายที่ไม่สมควร ..."
และให้มาตรา 67 ที่เขียนถึงแนวทาง และมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ ก็เขียนครอบคลุม องค์ประกอบของการสร้างเสริมสุขภาพไว้อย่างกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การสร้างนโยบายสาธารณะ การสร้างสิ่งแวดล้อม และสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ การส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชน และของชุมชน การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และการดูแลสุขภาพกันเอง ฯลฯ
ภาพที่ 3 การปรับสมดุลในระบบสุขภาพ
สำหรับในส่วนของรัฐบาล โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนนำ ได้ประกาศให้ปี 2545-2546 เป็น "ปีรณรงค์การสร้างสุขภาพ" เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างสุภขาพ อย่างกว้างขวาง ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบ หลักประกันสุขภาพ (30 บาทรักษาทุกโรค)
"รัฐบาลจึงประกาศให้ปี 2545 เป็นปีแห่งการเริ่มต้น สร้างสุขภาพทั่วไทย อย่างจริงจัง ภายใต้กลยุทธ์ รวมพลังสร้างสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดการ สร้าง สุขภาพ มากกว่าการซ่อม สุขภาพ ..."
นี่เป็นบางส่วนของคำประกาศ ปีแห่งการสร้างสุขภาพ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มี ึคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนผลักดันที่สำคัญ
มีการออกโลโก้ "รวมพลังสร้างสุขภาพ" ให้ใครต่อใครนำไปใช้ เป็นสัญญลักษณ์ของการสร้างสุขภาพ มีการจัดเต้นแอโรบิค พร้อมกันที่ท้องสนามหลวง หลายหมื่นคน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน ในส่วนของสังคม มีการตื่นตัวเรื่อง สุขภาพ เป็นอย่างมาก ตามกระแสสุขภาพที่เกิดขึ้น ทั้งระดับสากล และระดับประเทศ ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการด้านสุขภาพออกมา อย่างหลากหลาย และรวดเร็วตามแรงของตลาด เกิดข้อดีที่คนสนใจสุขภาพมากขึ้น แต่มีข้อด้อย คือ ยังมองสุขภาพแคบ แค่เรื่องของบุคคลเป็นหลัก มากกว่าจะมองสุขภาพ ไปถึงมิติของครอบครัว ชุมชน และสังคม อีกทั้งแรงของตลาด ทำให้สุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ต้องไปพึ่งพิง อยู่กับผลิตภัณฑ์ บริการ และปัจจัยภายนอก มากกว่าจะเป็นการพึ่งตนเอง
ธุรกิจภาคเอกชนส่วนหนึ่ง ฉวยโอกาสสร้างกำหรจากกระแสสุขภาพ ถึงขนาดโรงพยาบาลเสริมความงามบางแห่ง ลงโฆษณาเชิฐชวน สร้างเสริมสุขภาพกันเลยทีเดียว แต่เนื้อในจริงๆ คือ การผ่าตัดตกแต่งเสริมความงาม สารพัดชนิดไปโน่น
"การสร้างนำซ่อม" เป็นเรื่องที่ท้าทายผู้คนที่มีใจ และศรัทธากับ "การสร้างเสริมสุขภาพ" เป็นอย่างยิ่ง เพราะการแปลงยุทธศาสตร์ ไปสู่ภาคปฏิบัติ ที่ถูฏที่ควร ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบที่เขียนไว้ในตำราเล่มใดๆ แต่ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกัน ของผู้คนทั้งสังคม ซึ่งจะต้องกินเวลาเป็นสิบๆ ปีทีเดียว
บรรณานุกรม
- ประเวศ วะสี. บนเส้นทางใหม่ การส่งเสริมสุขภาพ : อภิวัฒน์ชีวิตและสังคม, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, พฤษภาคม 2541.
- ปณิธาน หล่อเลิศวิศย์ บรรณาธิการ. การจัดตั้งองค์กรระดับชาติ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพในประเทศไทย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, พฤษภาคม 2541.
- ลักขณา เติมศิริชัยกุล และสุชาดา ตั้งทางธรรม. สู่ศตวรรณใหม่ของการส่งเสริมสุขภาพ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, พฤษภาคม 2541.
- อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล บรรณาธิการ. สุขภาพของโลก ค.ศ.2000, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, กรกฎาคม 2541.
- จรัส สุวรรณเวลา. มุมมองใหม่ ระบบสุขภาพ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, พ.ศ.2543.
- วิพุธ พูลเจริญ และคณะ. สู่การปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, สิงหาคม 2543.
- ประเวศ วะสี. สุขภาพในฐานะอุดมการณ์ของมนุษย์, สำนักปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, 2543.
- จรัส สุวรรณเวลา. สุขภาพพอเพียง ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์, สถาบันพัฒนา และรับรองคุณภาพโรงพยาบาล, มกราคม 2544.
- พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544.
- คณะอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ. ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...... ฉบับปรับปรุง 24 กันยายน 2545 และคำชี้แจงประกอบ. สำนักปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, 2545.
- อำพล จินดาวัฒนะ. ปฏิรูปสุขภาพ : ปฏิรูปชีวิตและสังคม. สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ, 2546.