หัวข้อหรือประเด็นคำถาม รายการวิทยุคลินิค 101.5

เรื่อง “การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด”

ดย วิทยากร ผศ.ภก.วันชัย ตรียะประเสริฐ และ ภก.สิงห์ พฤกษเศรษฐ

ออกอากาศในวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2544


  1. อยากจะให้เล่าให้ฟังถึงวิธีการคุมกำเนิดมีกี่วิธี และมีวิธีอะไรบ้าง

ตอบ วิธีคุมกำเนิด มีอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ

    1. การคุมกำเนิดแบบถาวร ได้แก่ การทำหมัน โดยการตัดและผูกหลอดนำอสุจิในเพศชาย หรือท่อนำไข่ ในเพศหญิง
    2. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เป็นวิธีที่ใช้ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อม เพื่อเว้นระยะการมีบุตร เมื่อเลิกใช้สามารถมีบุตรได้อีก ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด,ยาฉีดคุมกำเนิด,ถุงยางอนามัย,ห่วงอนามัย (Intrauterine device, IUD), การนับระยะปลอดภัย (rhythm), การหลั่งน้ำกามภายนอก (coitus interrupts ) การสวนล้างช่องคลอดภายหลังร่วมเพศ (douche)

การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราวที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ราคาถูก ผลการป้องกันการตั้งครรภ์สูง

2.         ทำไมยาเม็ดคุมกำเนิดถึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

ตอบ ยาเม็ดคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์โดยกลไกดังนี้คือ

  1. ป้องกันไม่ให้ไข่สุก ระงับการตกไข่ โดยกดการหลั่งของ follicle stimulating hormone (FSH) และ luteinizing hormone (LH) จากต่อมใต้สมอง
  2. ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้น ตัวอสุจิจึงผ่านได้ยาก
  3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว โดยทำให้ต่อมและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ต่อมบวมและต่อมมีลักษณะฝ่อ (atrophic)
3.           ในยาเม็ดคุมกำเนิดประกอบด้วยตัวยาอะไรบ้าง

ตอบ ส่วนประกอบและชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงยาเม็ดคุมกำเนิดมักจะหมายถึง ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ 2 ชนิดคือ

  1. ฮอร์โมนเอสโตเจน (estrogen) ได้แก่ Ethinyl estradiol, Mestranol
  2. ฮอร์โมนโปรเจสโตเจน(progestogen) ได้แก่ Norethisterone,Norethindrone,Levonorgestrel,Norgestrel,Desogestrel,Gestodene,Cyproterone acetate
4.            ยาเม็ดคุมกำเนิดมีกี่ชนิด อะไรบ้าง

ตอบ ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิดคือ

    1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 3 ชนิด

                         1.1 ชนิดฮอร์โมนระดับเดียว (monophasic) ชนิดนี้นิยมใช้กันแพร่หลาย ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้ ประกอบด้วย ฮอร์โมนเอสโตเจน
                                และ โปรเจสโตเจน ในขนาดคงที่เท่ากันทุกเม็ด โดยใน 1 แผงจะมี 21 เม็ด บางแบบอาจมี 28 เม็ด โดยเป็นฮอร์โมน 21 เม็ด                        
                                และสารที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเช่น ธาตุเหล็ก แป้ง อีก 7 เม็ด

                         1.2 ชนิดฮอร์โมนสองระดับ (biphasic) เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนแตกต่างกัน 2 ระดับ ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

                         1.3 ชนิดฮอร์โมนสามระดับ( triphasic) ยาเม็ดคุมกำเนิดนี้จะประกอบด้วยฮอร์โมนต่างกัน 3 ระดับเพื่อเลียนแบบการขึ้นลง
                               ของฮอร์โมนเอสโตเจน และ โปรเจสโตเจน ในร่างกาย และทำให้ปริมาณฮอร์โมนรวมทั้งแผงลดลงอย่างไรก็ตาม
                               ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้ทำให้เกิดความสับสนในการใช้ได้ง่ายและมีอุบัติการของการเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยได้มากกว่าชนิด monophasic

                 2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะโปรเจสโตเจน (minipills)

                      ชนิดนี้ประกอบด้วย โปรเจสโตเจนอย่างเดียวในปริมาณต่ำเท่าๆกันทุกเม็ด โดยใน 1 แผงจะมี 35 เม็ด ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะให้นมบุตร
                      หรือผู้ที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตเจน

                  3. ยาเม็ดคุมกำเนิดหลังร่วมเพศ

ชนิดนี้เหมาะสำหรับป้องกันการตั้งครรภ์ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เช่นกรณีถูกขมขืน หรือถุงยางอนามัยฉีกขาด ไม่ควรใช้พร่ำพรือโดยไม่จำเป็นเพราะมีผลข้างเคียงสูง

5.          เนื่องจากที่ได้กล่าวมายาเม็ดคุมกำเนิดมีหลายชนิด ควรจะเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดไหน จะซื้อมารับประทานเองได้หรือไม่

    ตอบ โดยทั่วไปแล้วจะแนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมระดับเดียว ถึงแม้ว่ายาคุมกำเนิดจะซื้อหาได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป แต่ไม่ควรซื้อมากินเองโดยเฉพาะผู้เริ่มใช้ยาครั้งแรก ควรจะได้รับคำปรึกษาและแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน เพราะการเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้น ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของแต่ละคน ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดหนึ่งอาจเหมาะสมกับคนๆนั้น แต่ไม่เหมาะสมสำหรับอีกคนหนึ่งก็ได้ ต้องพิจารณาถึงปริมาณและชนิดของฮอร์โมนในยาเม็ดคุมกำเนิด

     

6.          มีผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นครั้งแรกส่วนมากได้รับคำแนะนำในการรับประทานมา      
              แต่ยังคงเกิดความสับสนในการรับประทานจึงอยากจะให้แนะนำวิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่เข้าใจง่าย ๆ

ตอบ คำแนะนำในการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

1. เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในวันที่ 1 – 5 ของรอบเดือน สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มี Ethinyl estradiol (EE) 20 ไมโครกรัม ควรเริ่มตั้งแต่วันแรกของรอบเดือน

2. รับประทานยาวันละเม็ดทุกวันในเวลาเดียวกัน เช่น หลังอาหารเย็นหรือก่อนนอน และทุกเช้าต้องตรวจว่าลืมรับประทานยาหรือไม่

3. สำหรับยาแผง 21 เม็ด รับประทานยาเรียงตามลูกศรชี้จนหมดชุดแล้วเว้น 7 วัน จึงเริ่มรับประทานยาแผงต่อไป

4. ถ้าเป็นยาแผง 28 เม็ด ก็ให้รับประทานยาติดต่อกันโดยไม่ต้องหยุดยา

5. ถ้ารับประทานยาอย่างถูกต้องไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยในระยะแรก ๆ เพราะการใช้วิธีอื่นร่วมด้วยจะก่อให้เกิดความสับสนยุ่งยากและเพิ่มค่าใช้จ่าย

 

7. เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิด จะต้องรับประทานติดต่อกันทุกวัน ถ้าหากเกิดลืมรับประทานยาขึ้นมา จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ตอบ การลืมรับประทานยา

1. ถ้าลืมรับประทานยาฮอร์โมน 1 เม็ด ให้รับประทานทันทีที่นึกได้แล้วรับประทานต่อไปในเวลาเดิม

2. ถ้าลืมรับประทานยาตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป ภายใน 14 เม็ดแรกของแผงซึ่งเป็นยาฮอร์โมน ให้รับประทาน 1 เม็ดทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดที่เหลือต่อไปตามปกติจนหมดแผง

3. ถ้าลืมรับประทานตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป ภายในเม็ดที่ 15-21 ของแผงซึ่งเป็นยาฮอร์โมนให้รับประทาน 1 เม็ดทันทีที่นึกได้และรับประทานยาฮอร์โมนที่เหลือจนหมด 21 เม็ดและเริ่มรับประทานยาฮอร์โมนเม็ดแรกของแผงใหม่ติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเว้นระยะ 7 วัน กรณีที่เป็นยาชนิดแผงละ 28 เม็ดให้ทิ้งยาหลอก 7 เม็ดไป

4. กรณีที่ลืมรับประทานยาฮอร์โมนตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย

                           5. ถ้าลืมรับประทานยาหลอก ให้ทิ้งเม็ดยาที่ลืมไปและรับประทานเม็ดที่เหลือตามปกติจนหมดแผง และเริ่มแผงใหม่ต่อไป

  1. ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถใช้ได้นานติดต่อกันนานเท่าไร กี่ปี

    ตอบ สตรีที่สุขภาพแข็งแรงดีสามารถใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ต้องเว้นระยะพักแต่อย่างใด แต่ควรไดัรับการตรวจสุขภาพเป็นระยะๆทุก6-12เดือน ซึ่งจะทราบว่ามีปัญหาสุขภาพหรือไม่ถ้าหากมีสามารถหยุดยาได้เลย

     

     

  2. เคยได้ยินว่า ถ้าเพิ่งรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด จะมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อาเจียน อยากทราบว่า จะป้องกันและแก้ไขอย่างไร

ตอบ กรณีคลื่นใส้ อาเจียน เวียนศรีษะ อาการนี้เกิดจากการใช้ยาที่มี estrogen สูง หรือผู้รับบริการมีปฏิกิริยาไวต่อออร์โมนสังเคราะห์ estrogen ที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย ส่วนมากจะเกิดในช่วง 2 – 3 เดือนแรกแล้วค่อย ๆ หายไป

                         การป้องกัน

    1. ให้คำปรึกษาแนะนำก่อนใช้ยาว่า อาจเกิดอาการได้ในระยะแรก ๆ
    2. เริ่มใช้ยาที่มี estrogen น้อย
    3. รับประทานยาหลังอาหารเย็นหรือหลังดื่มนม อาจช่วยลดอาการได้

การรักษา

    1. ให้คำปรึกษาและอธิบายซ้ำ เพื่อให้คลายความวิตกกังวล
    2. หาสาเหตุอื่นที่ทำให้คลื่นไส้อาเจียน
    3. ถ้าใช้ยาที่มี estrogen สูง เปลี่ยนมาใช้ยาที่มี estrogen ต่ำ

 

10.          ในกรณีที่เลือดออกกะปริดกะปรอย หรือเกิดฝ้า ขึ้นมา จะป้องกันและแก้ไขอย่างไร

ตอบ ส่วนมากเกิดในช่วงรับประทานยาใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้ยาที่มี estrogen ต่ำ หรือเกิดจากการเปลี่ยนชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนสูงมาใช้ชนิดที่มีฮอร์โมนต่ำกว่า นอกจากนี้อาจเกิดจากการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ตรงเวลาหรือลืมรับประทาน

การป้องกัน

                           1. ให้คำปรึกษาแนะนำอย่างละเอียดก่อนใช้ยาว่าอาจเกิดอาการนี้ได้ใน 2 – 3 เดือนแรก

2. แนะนำให้รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อไม่ลืม และทำให้ระดับของฮอร์โมนในร่างกายไม่เปลี่ยนแปลงมาก

3. ผู้รับบริการที่ใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจมีผลให้ประสิทธิภาพของยาไม่ดี และอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้

การรักษา

1. ให้คำปรึกษา เพื่อลดความวิตกกังวล

2. หาสาเหตุอื่นที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เลือดออกกะปริดกระปรอย

3. ถ้ารับประทานยาไม่ถูกต้อง อธิบายแนะนำซ้ำจนเข้าใจดี

4. การเปลี่ยนชนิดและขนาดของฮอร์โมนสังเคราะห์

4.1 เลือดออกกระปริดกระปรอย ส่วนมากเกิดจากยาเม็ดคุมกำเนิดที่มี estrogen ปริมาณต่ำ มีผู้แนะนำให้เพิ่มเป็นรับประทานยาวันละ 2 เม็ดไปจนกว่าอาการหายไปแล้วกลับไปรับประทานยาวันละ 1 เม็ดอย่างเดิม ซึ่งอาจเกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยซ้ำอีก ดังนั้นถ้าอธิบายให้ผู้รับบริการเข้าใจและอาการไม่มากอาการจะค่อย ๆ หายไป แต่ถ้าผู้รับบริการวิตกกังวลหรือรำคาญ ก็พิจารณาเปลี่ยนเป็นยาที่มี estrogen จาก 20 เป็น 30 หรือจาก 30 เป็น 50 ไมโครกรัม อาการนี้ก็จะหายไป

4.2 ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ประกอบด้วย norethisterone จะพบอุบัติการเลือดระดูออกผิดปกติจนเป็นสาเหตุของการเลิกใช้ยาคุมกำเนิดได้มากกว่าตัวยาที่ประกอบด้วย levonorgestrel ฉะนั้นถ้าผู้รับบริการใช้ยาที่มี norethisterone อยู่อาจเปลี่ยนเป็นยาที่ประกอบด้วย levonorgestrel

5. ถ้าต้องใช้ยาที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดเช่น rifampicin ควรพิจารณา

เลือกใช้ยาที่มีปริมาณฮอร์โมนสูง

6. ถ้าเลือกออกมาก ควรหยุดชุดนั้นแล้วเริ่มต้นชุมใหม่

7.ถ้ามีอาการเลือดออกผิดปกติอยู่นาน ควรหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หาสาเหตุและให้การรักษาต่อไป

 

กรณีหน้าเป็นฝ้า

หน้าเป็นฝ้า เป็นอาการที่เกิดจากการใช้ยาที่มีปริมาณ estrogen สูง ซึ่งกระตุ้นการทำงานของเซลล์ที่สร้างสี จะเกิดขึ้นง่ายแก่ผู้ที่มีประวัติหน้าเป็นฝ้าขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกลางแดด

การป้องกัน

    1. ควรอธิบายว่าเป็นอาการเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีหน้าเป็นฝ้าขณะตั้งครรภ์หรือผู้ทำงานกลางแดด
    2. เลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มี estrogen น้อย ๆ บางรายงานแนะนำให้เริ่มใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะโปรเจสโตเจน (minipills)
    3. หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดโดยไม่จำเป็นหรือป้องกันไว้ก่อน

การรักษา

    1. ชี้แจงและอธิบายซ้ำ เกี่ยวกับการใช้ยา
    2. หาสาเหตุอื่นที่ทำให้ผิวคล้ำผิดปกติ เช่น โรคของต่อมหมวกไต
    3. ควรเปลี่ยนยาเป็นชนิดมี estrogen เพียง 20 ไมโครกรัม ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้หยุดยา อาการจะค่อย ๆ หายไป
    4. เปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะโปรเจสโตเจน หรือวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ โดยต้องพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียเป็นอย่างดี
  1. ถ้ากำลังให้นมบุตรอยู่ และจำเป็นจะต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด อยากจะให้แนะนำยาเม็ดคุมกำเนิดที่เหมาะ สม

ตอบ แนะนำให้ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดที่ไม่มี estrogen เป็นส่วนประกอบ มีเพียง progestogen ในปริมาณต่ำเท่านั้น(ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะโปรเจสโตเจน , minipills)

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดนี้ที่มีในประเทศไทยประกอบด้วย lynestrenol 0.5 มิลลิกรัมเหมาะสมที่จะใช้ในสตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง เพราะไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม และการให้นมบุตรจะช่วยเสริมให้ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีเฉพาะโปรเจสโตเจน มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจนเกือบร้อยละ 100


( กลับสู่ข้างบน ) ( กลับหน้า News ) ( กลับหน้า Home )